ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่เปลี่ยนใจนั้น พบว่า ร้อยละ 50.9 จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ รองลงมาร้อยละ 30.8 จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และร้อยละ 8.8 จะเลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ส่วนที่ตัดสินใจว่าจะเลือกผู้สมัครคนอื่นๆ เช่น นายสุหฤท สยามวาลา, นายโฆสิต สุวินิจจิต เป็นต้น มีเพียงร้อยละ 4.9
โดยลักษณะเด่น(Profiling) ของคนที่อาจเปลี่ยนใจเลือกคนอื่นได้อีกนั้น พบว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเพศหญิง ร้อยละ 55.6 รองลงมาเป็นกลุ่มที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ร้อยละ 49.6 และเป็นกลุ่มที่มีรายได้เกิน 10,000 บาท/เดือน ร้อยละ 48
"มีความเป็นไปได้ว่าผลสำรวจกับผลการเลือกตั้งจริงไม่ตรงกันอาจพลิกได้ เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพิ่มเติมในกลุ่มที่อาจเปลี่ยนใจได้ โดยพบว่าในกลุ่มตัวอย่างที่อาจเปลี่ยนใจได้ร้อยละ 25.6 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ แต่ร้อยละ 24.8 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ นั่นหมายความว่าห่างกันเพียงไม่ถึง 1 จุดเท่านั้น โอกาสที่จะพลิกจึงยังคงมีอยู่ ถ้าประชาชนผู้อาจเปลี่ยนใจได้มีเพิ่มมากขึ้นและไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันมากกว่ากลุ่มคนที่บอกว่าไม่เปลี่ยนใจแล้วในผลโพลล์แต่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง" นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ระบุ
ทั้งนี้ ยังได้สำรวจแนวโน้มการรับรู้ของประชาชนในเรื่องการซื้อขายเสียงในชุมชนที่พักอาศัย ซึ่งพบว่าการสำรวจในช่วงล่าสุดระหว่างวันที่ 15-20 ก.พ.56 ประชาชนรับรู้ว่ามีการซื้อขายเสียงแล้ว ร้อยละ 15.7 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อวันที่ 8-13 ก.พ.56 ที่ร้อยละ 12.2 ขณะที่ประชาชนร้อยละ 84.3 ระบุว่าไม่มีการซื้อขายเสียง
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 2,498 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการและวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างวันที่ 15-20 ก.พ.ที่ผ่านมา