โดยนายกรัฐมนตรีและคณะมีกำหนดการเยือนราชอาณาจักรสวีเดนเป็นประเทศแรกระหว่างวันที่ 4-5 มี.ค.56 ตามคำเชิญของนายเฟรดริก ไรน์เฟลด์ท นายกรัฐมนตรีสวีเดน และเป็นการเยือนครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีไทยในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่ปี 2547 โดยสวีเดนเป็นประเทศที่เป็นมิตรที่แนบแน่นของไทยมายาวนาน เป็นประเทศที่ลงทุนในไทยสูงเป็นอันดับ 3 ของ EU และไทยเป็นตลาดท่องเที่ยวสำคัญและเป็นที่นิยมของสวีเดน เพื่อส่งเสริม Medical Tourism ในการเยือนครั้งนี้ไทยมุ่งหวังการขยายความร่วมมือทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว เทคโนโลยีนวัตกรรม และการวิจัย เป็นสำคัญ รวมทั้งจะเปิดโอกาสภาคเอกชนไทยได้เข้าไปเปิดตลาดในประเทศสวีเดนและกลุ่มประเทศนอร์ดิกในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อาหาร สาธารณสุข และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่บริษัทชั้นนำและนักธุรกิจสวีเดนเกี่ยวกับศักยภาพของไทย เช่น ไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคและมีการพัฒนาการเชื่อมโยง ที่จะเอื้อต่อการลงทุนและการค้าในอนาคต ความพร้อมในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และรองรับการท่องเที่ยวจากสวีเดน ที่ไทยถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวสวีเดนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานทดแทนนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแลดล้อม และศึกษาดูงานที่ Symbio City ซึ่งเป็นเมืองต้นแบบในการบริหารจัดการเมืองแบบบูรณาการและรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย
จากนั้นในวันที่ 5-6 มี.ค.56 นายกรัฐมนตรีและคณะจะออกเดินทางจากสวีเดนไปยังราชอาณาจักรเบลเยี่ยม และสหภาพยุโรป หรือ EU เพื่อเยือนอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นการเยือนเบลเยี่ยมในวาระครบรอบ 130 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันด้วย ทั้งนี้การเยือนเบลเยียมมีเป้าหมายกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรเก่าแก่ในยุโรปและสหภาพยุโรป ซึ่งเบลเยี่ยมเป็นหนึ่งในประเทศยุโรปที่ไทยมีสัมพันธไมตรีที่ยาวนานในทุกระดับ และในโอกาสนี้ จะได้มุ่งขยายการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกันเป็นสำคัญ โดยจะการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม(สาขาการแพทย์ ความปลอดภัยทางอาหาร โลจิสติกส์) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ส่งเสริมการเพิ่มความร่วมมือด้านอากาศยาน เพิ่มเที่ยวบินเส้นทางกรุงเทพฯ-บรัสเซลส์และขยายเส้นทางยินของการบินไทยไปภูมิภาคอื่นๆ (ผ่านบรัสเซลส์) เช่น อเมริกาเหนือ แอฟริกา และยุโรป ทั้งนี้ไทยได้ตั้งเป้าหมายในการขยายการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เพราะเบลเยียมมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ทั้งนี้ การเยือนเบลเยี่ยมในช่วงเวลาดังกล่าว จะช่วยเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์การเสด็จเยือนประเทศไทยของเจ้าชายฟิลิป มกุฏราชกุมเจ้าหญิงมาทิลเดอ พระชายา และคณะนักธุรกิจเบลเยียม ระหว่างวันที่ 17-22 มี.ค.56 ด้วย
ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีจะได้ใช้ช่วงเวลาการเยือนเบลเยียม เยือนสหภาพยุโรป หรือ EU ตามคำเชิญของประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และจะใช้โอกาสนี้ยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนหลักทางการค้า การลงทุน และความร่วมมือรอบด้านระหว่างกันด้วย โดยนายกรัฐมนตรีนับเป็นผู้นำไทยคนแรกที่ได้พบกับผู้นำ 3 สถาบันหลักของ EU ได้แก่ ประธานสภายุโรป ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และประธานคณะมนตรียุโรป ทั้งนี้ EU เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 4 ของไทย และมีมูลค่าการลงทุนเป็นอันดับที่ 4 โดยในปี 2555 มีการลงทุนสุทธิ 740 ล้านยูโร
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะได้ร่วมชื่นชมความสำเร็จของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ สินค้าเกษตรตัวแรกของเอเชียที่ได้รับความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI) ของ EU ซึ่งจะช่วยประชาสัมพันธ์การขยายตลาดข้าวของไทยใน EU รวมทั้ง ผลักดันสินค้าเกษตรอีก 2 รายการได้แก่ การแฟดอยช้าง และกาแฟดอยตุง ที่กำลังดำเนินการขอรับการจดทะเบียนด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ในการเยือนครั้งนี้มีภาคเอกชนที่จะร่วมเดินทางกับคณะด้วย โดยเป็นธุรกิจสาขาหลัก 5 สาขา คือ สาขาอาหาร สาขาพลังงาน/เศรษฐกิจสีเขียว สาขาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สาขาสินค้าดีไซน์/เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสาขาการธนาคาร เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของสินค้าไทยโดยรวม และผลักดันให้ธุรกิจไทยสามารถเพิ่มปริมาณการ ส่งออกสินค้าจากไทยสู่ยุโรปได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะมีกำหนดการเดินทางออกจากท่าอากาศยานสุวรรรณภูมิในวันที่ 4 มี.ค.56 เวลา 00.05 น. และจะเดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 7 มี.ค.56 เวลา 15.20 น.