ด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 60.1 ไม่ผ่านร้อยละ 39.9 เมื่อพิจารณาเทียบกับการสำรวจสองครั้งที่ผ่านมา (ก.ย.-ต.ค. และ พ.ย.-ธ.ค. 55) จะพบว่า ด้านเศรษฐกิจมีคะแนน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมในเดือน ก.ย.-ต.ค. 55 มีคะแนนต่ำกว่าร้อยละ 50 ในช่วง พ.ย.-ธ.ค. คะแนนได้รับขึ้นเป็นร้อยละ 56.6 ในครั้งนี้ได้รับคะแนนเพิ่มเป็นร้อยละ 60.1 ถือว่าได้รับคะแนนในด้านนี้สูงที่สุดในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา
ด้านสังคม อาชญากรรม และยาเสพติด ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 61.6 ไม่ผ่าน ร้อยละ 38.4 ด้านสิ่งแวดล้อม มลภาวะ และภัยธรรมชาติ ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 62.1 ไม่ผ่าน ร้อยละ 37.9 ด้านการต่างประเทศ ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 79.6 ไม่ผ่าน ร้อยละ 20.4
เมื่อถามความคิดเห็นว่า หากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่คนอีสานจะเลือกพรรคการเมืองใด พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.4 จะเลือกพรรคเพื่อไทย (จากเดิมร้อยละ 56.3) และอีกร้อยละ 27. 7 ยังไม่ตัดสินใจจะเลือกพรรคใดในขณะนี้ ส่วนผู้ที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ มีเพียงร้อยละ 12.0 (ครั้งที่แล้ว ร้อยละ 10.7) อีกร้อยละ 4.3 ตอบว่าจะไม่เลือกพรรคใด และร้อยละ 0.6 จะเลือกพรรคอื่นๆ
ในส่วนของการประเมินการทำงานของฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล พบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานกว่าร้อยละ 63.6 ให้คะแนนว่าไม่ผ่าน (การประเมินครั้งก่อน ไม่ผ่านร้อยละ 70.3) โดยให้เหตุผล เช่น ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ ค้านมากเกินไป ข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ ไม่ชอบเป็นการส่วนตัว ทำงานไม่มีความรับผิดชอบ ฯลฯ ส่วนอีกร้อยละ 36.4 ที่ประเมินให้ผ่าน ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ทำงานตามหน้าที่ฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาลได้ดี และชอบในการทำงาน
สำหรับผลการสำรวจนักการเมืองที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดประจำเดือน (ผู้ตอบเสนอชื่อเอง) น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังคงนำมาเป็นอันดับหนึ่งร้อยละ 63.1 (ครั้งที่แล้วร้อยละ 68.8) รองลงมาคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้คะแนนร้อยละ 12.8 ตามมาด้วย ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ได้คะแนนร้อยละ 8.5 และนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้คะแนนร้อยละ 4.5 พ.ต.ท. ทักษิน ชินวัตร ร้อยละ 4.4 คิดว่าไม่มีใครโดดเด่น ร้อยละ 2.7 ส่วนที่เหลือร้อยละ 4.0 เสนอชื่อคนอื่นๆ
“ผลการประเมินในครั้งนี้ พบว่า แม้โดยทั่วไปคนเมืองอีสานจะให้รัฐบาลผ่านด้วยคะแนนน้อย แต่โดยรวมชาวอีสานยังให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์สอบผ่านทุกด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และความอยู่ดีกินดีของประชาชน ที่มักจะได้รับผลการประเมินต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง แต่ในการประเมินครั้งนี้และครั้งที่แล้ว กลับมาได้คะแนนประเมินที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ผลมาจากนโยบายประชานิยมของรัฐ ที่ประชาชนรายได้น้อยเริ่มจะได้รับประโยชน์ เช่น ค่าแรง 300 บาท และนโยบายจำนำข้าว เป็นต้น อย่างไรก็ตามผลงานด้านอื่นๆ เริ่มมีคะแนนลดลง เช่น ด้านสังคม อาชญากรรม และยาเสพติด ที่ได้รับผลกระทบจากข่าวก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และด้านสิ่งแวดล้อม มลภาวะ และภัยธรรมชาติ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีปัญหาเรื่องขาดน้ำประปา เป็นต้น" อีสานโพล ระบุ
อีสานโพล ได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคม 2556 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,210 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ