สำหรับรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในมาตรา 3 กำหนดให้ผู้กระทำการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง แม้ไม่เข้าร่วมการชุมนุม แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองด้วยวาจาหรือโฆษณา เพื่อเรียกร้องให้มีการต่อต้านรัฐ, การป้องกันตน, การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทบต่อชีวิตทรัพย์สินของบุคคลอื่น นับตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.49 - 10 พ.ค.54 โดยไม่เป็นความผิดและไม่ต้องรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเวลาดังกล่าว
นายวรชัย ยืนยันว่า การร่างกฎหมายนี้จะไม่เอื้อประโยชน์กับแกนนำและความผิดในคดีอาญา แม้ในมาตรา 3 จะมีกฎหมายเปิดกว้างเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยเชื่อว่าในชั้นกรรมาธิการจะมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ให้ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการตีความว่าใครเป็นผู้มีอำนาจสั่งการ
พร้อมกันนี้จะเดินหน้าเสนอร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวทันที โดยไม่รอข้อสรุปของการหารือระหว่างนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กับตัวแทนกลุ่มต่างๆ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 มี.ค.นี้ เนื่องจากตามขั้นตอนการพิจารณากฎหมายสามารถนำมาพิจารณาพร้อมกันในสภาฯ ได้