นิด้าโพลเผยคนกรงุเทพไม่เชื่อ กทม.-รัฐบาลทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ

ข่าวการเมือง Friday March 8, 2013 12:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น“นิด้าโพล"สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง“กทม. กับ รัฐบาล ทำงานอย่างไร้รอยต่อ"ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5-6 มีนาคม 2556 พบว่า คนกรุงเทพฯ 42.24% ไม่เชื่อว่า กทม.กับรัฐบาลจะทำงานร่วมกันได้อย่าง“ไร้รอยต่อ" เพราะต่างฝ่ายอยู่คนละพรรคการเมืองที่มีการแข่งขันกันสูงอยู่แล้ว มีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ดูจากปัญหาที่ผ่านมามีการเล่นเกมส์การเมือง ไม่มีความร่วมมือกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีคนกรุงเทพอีก 36.08% ที่เชื่อว่า กทม.กับรัฐบาลน่าจะทำงานร่วมกันได้อย่าง“ไร้รอยต่อ" เพราะมีประสบการณ์จากการบริหารงานในอดีตที่ผ่านมา ทุกฝ่ายต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การพัฒนากรุงเทพฯ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาวกรุงเทพฯ น่าจะมีการประสานงานและทำงานร่วมมือกันได้เป็นอย่างดี

ท้ายสุด เมื่อถามความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ที่ไม่เชื่อว่า กทม.กับรัฐบาล จะทำงานร่วมกันได้อย่าง“ไร้รอยต่อ"ได้นั้น ฝ่ายใดที่จะทำให้การทำงานระหว่าง กทม.กับรัฐบาลเกิดปัญหาและอุปสรรค พบว่า คนกรุงเทพฯ 33.44% ระบุว่า เป็นฝ่ายรัฐบาล เพราะรัฐบาลมีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินเป็นหลักและอยู่คนละส่วนกับ กทม.

รองลงมา 19.49% คิดว่าเป็นฝ่าย กทม. เพราะไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้เท่าที่ควร และแก้ไขปัญหาบางอย่างไม่ได้ ขณะที่ 15.37% เป็นฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ เพราะยังมีการเล่นเกมส์การเมืองกับพรรคเพื่อไทยอยู่ ไม่ยอมรับข้อผิดพลาดของตนเอง ส่วนร้อยละ 12.36 เป็นฝ่ายพรรคเพื่อไทย เพราะอยู่คนละขั้วการเมือง และต้องการเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ และ 13.15% ระบุว่าเป็นทั้ง กทม.กับรัฐบาล เพราะต่างฝ่ายต่างมีความขัดแย้งและเอาแต่ประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก

"ผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา มีการทำงานที่ไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร ทั้งที่น่าจะร่วมมือด้วยกันได้หลายๆ โครงการ เช่น โครงการรถไฟฟ้า BTS, การติดกล้องวงจรปิด CCTV, การสร้างสนามกีฬาฟุตซอล ที่เกิดปัญหาความขัดแย้ง การแย่งชิงผลประโยชน์ของตนมากกว่าส่วนรวม การใส่ร้ายป้ายสีซึ่งกันและกัน ซึ่งถ้าหากมีการปรึกษาหารือ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ในส่วนนี้จึงเป็นบทเรียนที่สำคัญที่ทุกฝ่ายควรจะนำมาปรับใช้ เพราะคนที่ได้รับผลกระทบและเป็นทุกข์ก็คือประชาชน"ศ.ดร. อุดม ทุมโฆสิต อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อมองในภาพรวมคนกรุงเทพเห็นว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีวุฒิภาวะ มีภาพลักษณ์ในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมที่ดี หรือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ดูแล้วมีบุคคลิกน่าจะเหมาะกับการเล่นการเมืองมากกว่าและมีสปิริตที่ดีหลังจากทราบผลการเลือกตั้ง ซึ่งมีทีท่าว่าน่าจะสามารถร่วมงานกับทางกรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดี บรรยากาศหลังการเลือกตั้งก็น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่จะมีข้อพึงระวังในเรื่องของ ส.ก. หรือ ส.ข. บางคน ที่ขาดวุฒิภาวะ ที่เห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองโดยใช้ผลประโยชน์ของประชาชนมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง


แท็ก นิด้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ