แต่สำหรับการปรับลดโทนจากการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินลงมาเหลือเป็นการบังคับใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในพื้นที่ 5 อำเภอของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาข้อมูลประกอบจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ที่จะต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายประการไปพร้อมกัน ทั้งสถานการณ์ในพื้นที่ บรรยากาศการพูดคุยและความพร้อมของกำลังตำรวจที่จะมาปฎิบัติหน้าที่แทนทหารในพื้นที่
ดังนั้น จึงขอดูสถานการณ์ไปอีกระยะ หากแนวโน้มสถานการณ์มีความชัดเจนว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นก็สามารถปรับลดโทนมาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ได้ โดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนด 3 เดือน
"ณ ตอนนี้ยังมีความจำเป็นในเรื่องเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติงาน ต้องดูหลายองค์ประกอบไปพร้อมๆกัน แต่ยังก้ำกึ่งที่จะมีโอกาสปรับลดโทนได้ ขอดูสถานการณ์อีกเล็กน้อย"เลขาธิการ สมช. กล่าว
เลขาธิการ สมช. ยังเปิดเผยว่า ในวันที่ 28 มี.ค.ทางหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยจะได้มีโอกาสหารือกับกลุ่ม BRN อีกครั้ง โดยวัตถุประสงค์สำคัญ คือ จะมีการพูดคุยเพื่อยุติสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยหวังว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนจากการหารือในครั้งนี้ ส่วนจะมีกลุ่มอื่นมาหารือด้วยหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน เพียงแต่อาจมีความเป็นไปได้ใน 2 กรณี คือ ไปพูดคุยกับกลุ่มอื่นโดยตรง หรือเป็นหารือไปพร้อมกลุ่ม BRN แต่จะไม่มีการลงนามใดๆ ร่วมกันอีก
สำหรับกรณีที่มีข่าวว่าทางกลุ่ม BRN ได้เสนอขอให้ไทยปรับลดโทนการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดขายแดนใต้จากพ.ร.ก.ฉุกเฉินลงเหลือแค่พ.ร.บ.ความมั่นคงนั้น เลขาธิการ สมช. ระบุว่า เป็นเพียงข่าว เพราะจากที่ได้หารือกันไปเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ทางกลุ่ม BRN ยังไม่มีการส่งสัญญาณอย่างเป็นทางการที่ชัดเจนออกมา
ส่วนกรณีที่จะครบรอบ 53 ปีสถาปนากลุ่ม BRN ในวันที่ 13 มี.ค.นี้ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้มีการดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการร์ที่อาจจะเกิดขึ้น ทีผ่านมาทุกปีในวันดังกล่าวจะมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น แต่ความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป แต่ในปีนี้เชื่อว่าจะสามารถคุวบคุมสถานการณ์ได้