การตรวจสอบดังกล่าวเพื่อยืนยันข้อมูล โดยจะตรวจสอบใน 2 ประเด็น คือ ต้องดูรอบระยะบัญชีที่มีการปล่อยกู้ให้บริษัทดังกล่าว ว่ามีกำหนดจากเมื่อไรถึงเมื่อไร อยู่ในช่วงการให้กู้ยืมเงินหรือไม่ ซึ่งถ้าอยู่ได้มีการแจ้งในบัญชีงบดุลของบริษัทหรือไม่ และการตรวจสอบเรื่องของดอกเบี้ยในตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีการระบุว่า อัตราเงินฝากประจำ 1 ปีของธนาคารกรุงไทย ซึ่งในงบดุลระบุว่าคิดอัตราดอกเบี้ย 2.50-3.75 ต่อปี ซึ่งเป็นประเด็นที่เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเมื่อเจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลแล้วจะเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป และหากพบว่ามีความผิดปกติก็จะขออนุมัติจากคณะกรรมการฯ ให้มีการตรวจสอบในเชิงลึก แต่หากเป็นเรื่องที่ถูกต้องก็จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล คณะกรรมการฯ ได้ตั้งประเด็นไต่สวนเอาไว้ตั้งแต่ความเป็นมาของโครงการ ซึ่งได้ขอเอกสารในเรื่องดังกล่าว 11 รายการ แต่ได้รับเอกสารเพียง 5 รายการ ยังขาดอีก 6 รายการ รวมถึงได้ตั้งประเด็นการระบายข้าวว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจะต้องตรวจสอบในหลักเกณฑ์การระบายข้าว และการระบายข้าวในลักษณะรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) โดยได้ขอเอกสารไป 6 รายการ ได้รับมาเพียง 1 รายการ ส่วนการระบายแบบจีทูจีได้ขอเอกสารไป 10 รายการแต่ได้รับมาเพียง 1 ราย ทั้งนี้การสอบพยานบุคคลได้มีการสอบไปแล้วหลายปากทั้งนักวิชาการ ผู้มีประสบการณ์ทางด้านการเงินการคลังของประเทศ และจะมีหมายเรียกอีก 5 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับธนาคาร และสมาคมค้าข้าว
ขณะเดียวกันเอกสารที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ส่งมาเป็นเอกสารสำเนาเช็ค ซึ่งขณะนี้ได้ตรวจสอบเช็คกับทางธนาคาร เพื่อตรวจสอบถึงแหล่งที่มาว่าเป็นเงินจากบัญชีของใคร ซึ่งจะมีการเชิญเจ้าของบัญชีมาชี้แจง โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ โดยได้ตั้งคณะอนุกรรมการ และจะมีการประชุมทุกสัปดาห์ และมีการสอบพยานบุคคลทุกวันศุกร์
ด้านนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงคดีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎ์ธานี ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง สั่งสลายการชุมนุมโดยมิชอบ และใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ว่า การดำเนินการของ ป.ป.ช.ได้มีการดำเนินการสอบสวนพยานไปหลายปากแล้ว รวมถึงได้พิจารณาจากการสรุปสำนวนของนายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.)
แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในการนำคดีความมอบให้ทางตำรวจไปดำเนินการ และทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้ตรวจพบว่ามีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ทหารในการเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งดีเอสไอได้สรุปในบางคดีเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเมื่อมีข้อมูลเปลี่ยนแปลงไปทำให้ ป.ป.ช.ต้องรอข้อมูลที่ครบถ้วน จึงต้องรอให้ทางศาลมีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพให้ครบทุกสำนวน จึงยังไม่สามารถสรุปสำนวนได้ เพราะกรณีดังกล่าวพยานและหลักฐานยังไม่ได้ข้อยุติ
ทั้งนี้แม้ว่าดีเอสไอจะสรุปมาแล้วว่ามีคนตายเพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ป.ป.ช.ก็ยังไม่สามารถดำเนินการสรุปสำนวนได้ เนื่องจาก ป.ป.ช. มีหน้าที่ไต่สวนว่ามีความผิดในขณะที่ดำรงตำแหน่งหรือไม่
นอกจากนี้ คณะกรรมการป.ป.ช. ยังได้แถลงผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือน (1 ต.ค. 55-18 มี.ค. 56) ว่า ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาคณะกรรมการป.ป.ช. มีเรื่องตรวจสอบทั้งสิ้น 29,872 เรื่อง ดำเนินการเสร็จแล้ว 21,499 เรื่อง คดีที่คงเหลืออยู่ 8,373 เรื่อง โดยแบ่งเป็นอยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง 6,862 เรื่อง และอยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง 1,511 เรื่อง