กรุงเทพโพลล์เผยปชช.หนุนปรับครม.เล็กตามความเหมาะสม อยากเปลี่ยนรมต.ด้านศก.-ศึกษา-มั่นคง

ข่าวการเมือง Friday March 22, 2013 09:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง "ครม.ยิ่งลักษณ์ 4 กับนายกรัฐมนตรีสำรอง" พบว่าหากมีการปรับ ครม.จริง ประชาชนร้อยละ 41.8 ต้องการให้มีการปรับเล็กๆ ไม่กี่ตำแหน่งตามความเหมาะสม รองลงมาร้อยละ 30.3 ต้องการให้ปรับใหญ่หลายตำแหน่ง และร้อยละ 25.0 ต้องการให้ปรับเฉพาะตำแหน่งที่ว่างอยู่ทดแทนตำแหน่งของ นายชุมพล ศิลปอาชา อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.ท่องเที่ยวและกีฬา

โดยเกณฑ์ที่ประชาชนต้องการให้นายกรัฐมนตรีใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในแต่ละกระทรวง อันดับแรกคือ มีความรู้ ความสามารถ เชี่ยวชาญเหมาะกับตำแหน่งที่ได้รับ รองลงมาคือ มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกง ไม่คอร์รัปชั่น และอันดับสาม มีประวัติดีและประสบการณ์เป็นที่ยอมรับ

ส่วนรัฐมนตรีที่ประชาชนอยากให้ปรับเปลี่ยนออกมากที่สุด คือ รัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 41.0 รองลงมา คือ รัฐมนตรีที่ดูแลด้านการศึกษา ร้อยละ 13.1 และรัฐมนตรีที่ดูแลด้านความมั่นคงของประเทศ ร้อยละ 12.8

สำหรับทิศทางการทำงานของรัฐบาลหลังการปรับ ครม.ถ้าหากมีการปรับ ครม.ยิ่งลักษณ์ 4 จริง คือ ประชาชนร้อยละ 50.0 คาดว่าการทำงานจะดีขึ้น ขณะที่ร้อยละ 44.3 คาดว่าการทำงานจะเหมือนเดิม และมีเพียงร้อยละ 5.7 คาดว่าการทำงานจะแย่ลง

เมื่อถามถึงคะแนนนิยมของรัฐบาลหากมีการดึง ส.ส.จากกลุ่มมัชฌิมาเข้าร่วมรัฐบาลในการปรับ ครม.ครั้งนี้ พบว่า ประชาชนร้อยละ 57.6 ระบุว่าคะแนนนิยมจะเท่าเดิม รองลงมาร้อยละ 25.1 ระบุว่าคะแนนนิยมจะเพิ่มขึ้น และอีกร้อยละ 17.3 ระบุว่าคะแนนนิยมจะลดลง

เมื่อถามถึงประเด็นการลาออกของนายเกษม นิมมลรัตน์ ส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 พรรคเพื่อไทย และมีชื่อนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ที่จะมาลงเลือกตั้งซ่อมแทนนั้น คิดว่ามีนัยทางการเมืองหรือไม่ พบว่า ประชาชนร้อยละ 34.6 เห็นว่ามีนัยทางการเมืองแน่นอน รองลงมาร้อยละ 33.6 เห็นว่าอาจจะมี ขณะที่มีเพียงร้อยละ 7.0 ที่เห็นว่าไม่มีแน่นอน

เมื่อถามว่าเชื่อหรือไม่กับเรื่องที่นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ถูกวางตัวให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แทนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากมีอุบัติเหตุทางการเมือง พบว่าประชาชนร้อยละ 56.3 บอกว่าไม่เชื่อ ขณะที่อีกร้อยละ 43.7 บอกว่าเชื่อ

อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป และพักอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,123 คน ดำเนินการสำรวจในช่วงวันที่ 19-21 มีนาคม 56


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ