โดยทางสหภาพฯ มองว่ารัฐบาลขาดความจริงใจในการแก้ไขปัญหาให้ขสมก. จึงต้องเดินทางมาเรียกร้องและถามหาความจริงใจของรัฐบาล เพราะการปรับปรุงคุณภาพรถเมล์มีความจำเป็นและเร่งด่วนไม่น้อยไปกว่าโครงการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อสร้างรถไฟฟ้า หรือรถไฟความเร็วสูงเพียงอย่างเดียว ซึ่งทางสหภาพฯ ได้รวมตัวชุมนุมบริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาลฝั่งตรงข้ามกระทรวงศึกษา
นอกจากนี้ยังมีสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) นำโดยนายวิศร์ อัครสันตติกุล ประธานองค์กร และกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมาก เดินทางมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 ในมาตราที่ไม่เป็นธรรมต่อสมาชิก โดยเฉพาะการขอให้แก้สูตรการคำนวณบำเหน็จบำนาญข้าราชการในมาตรา 63
ขณะที่กลุ่มแพทย์ชนบท ชมรมทันตสาธารณสุขภูธร และเครือข่ายทันตแพทย์โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ จัดการชุมนุมโดยการแต่งกายชุดดำ อยู่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ประตู 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยนำพวงหรีด ป้ายประท้วง และป้ายขับไล่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมีการนำโลงศพพร้อมเขียนตำแหน่งและวางดอกไม้จันทน์ จุดธูปเทียน เผาขับไล่ด้วย
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้เพื่อขับไล่ นพ.ประดิษฐ ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากบริหารงานมีปัญหาและมีการรวบอำนาจไว้ที่ตัวเอง รวมถึงพยายามผลักดันให้แพทย์ออกจากการสังกัดของรัฐให้ไปอยู่กับภาคเอกชนที่ต้องการจะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (เมดิคัลฮับ) อีกทั้งยังมีอีกเรื่องที่ถือว่าเป็นฟางเส้นสุดท้าย คือ การเปลี่ยนการจ่ายเงินแบบให้จ่ายเป็นเบี้ยขยันตามภาระงาน ส่งผลให้แพทย์ขาดขวัญและกำลังใจ ทำให้แพทย์ต้องเร่งตรวจผู้ป่วยจำนวนมากๆ ซึ่งไม่มีการตรวจสอบคุณภาพการรักษา
โดยการชุมนุมในวันนี้ จะไม่มีการยื่นหนังสือใดๆ เพราะได้ยื่นหนังสือมาหลายครั้งแล้ว ยืนยันว่าจะชุมนุมจนกว่าจะปลด นพ.ประดิษฐ ออกจากตำแหน่งได้ ซึ่งจะคอยประเมินสถานการณ์และรอดูท่าทีความเคลื่อนไหวต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเครือข่ายนักวิชาการสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สถาบันนอกสมทบ) นำโดยนายยุทธนา โคตะระ ประธานเครือข่ายฯ เดินทางมาชุมนุมติดกับกลุ่มแพทย์ชนบท ส่งผลให้มีกลุ่มผู้ชุมนุมเต็มพื้นที่ถนนพิษณุโลก ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล ส่งผลให้รถไม่สามารถวิ่งผ่านได้จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปิดการจราจร
ทั้งนี้ เครือข่ายนักวิชาการสาธารณสุข ได้ออกแถลงการณ์ร้องขอความเป็นธรรม ให้รัฐบาลชี้แจงการบรรจุราชการ พร้อมขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เร่งให้การบรรจุนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวใน 21 สายงานเป็นข้าราชการ
ด้าน พล.ต.ต.วิชาญญ์วัชร์ บริรักษ์กุล ผบก.น.1 ได้เข้าเจรจากับ นพ.เกรียงศักดิ์ แกนนำ เพื่อขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมเปิดเส้นทางการจราจร แล้วส่งตัวแทนกลุ่มไปพูดคุยกับตัวแทนของรัฐบาลในทำเนียบ แต่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่ยินยอม พร้อมยืนยันว่าจะชุมนุมต่อไปจนกว่าจะได้ตามข้อเรียกร้อง