"ลักษณะกฎหมายนี้ คล้ายการพิจารณากฎหมายงบประมาณ เรามีบัญชีแนบท้ายไป มี 3 ยุทธศาสตร์ เรากำหนดวงเงินไว้ เมื่อมาดำเนินการมันมีปัญหาแต่ละโครงการอาจะน้อย อาจจะมาก ก็สามารถใช้วงเงินในยุทธศาสตร์เดียวกัน ไม่สามารถข้ามยุทธศาสตร์ ถามว่าเปลี่ยนแปลงได้ไหม เป็นเรื่องฝ่ายบริหาร แต่ไม่สามารถเปลี่ยนอย่างอื่นโดยสิ้นเชิง เช่น ข้ามกระโดดแผน หรือไม่อยู่ในแผนทำไม่ได้" นายวราเทพ กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับความพร้อมในการชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28-29 มี.ค.นั้น ในส่วนของคณะรัฐมนตรีได้แจ้งผ่านคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล)ว่า จะขอกรอบเวลาแยกออกจากการอภิปรายของ ส.ส.ทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อจะได้ชี้แจงรายละเอียดได้ครบถ้วน อีกทั้งได้จัดส่งเอกสารข้อมูลประกอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไว้กว่า 200 หน้า เพื่อแจกให้กับส.ส.ผู้เข้าร่วมอภิปรายทั้งหมด
นายวราเทพ ยืนยันว่า การที่รัฐบาลตั้งใจจะออกเป็น พ.ร.บ.ก็เพื่อต้องการให้ตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน และเมื่อผ่านการเห็นชอบในวาระ 1 ยังสามารถตรวจสอบในชั้นกรรมาธิการ วาระ 2
ส่วนกรณีที่นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ออกมาวิจารณ์ว่าการออกเป็นพ.ร.บ.เปรียบเสมือนการตีเช็คเปล่าของรัฐบาลนั้น นายวราเทพ ชี้แจงโดยได้เปรียบเทียบกับการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในโครงการไทยเข้มแข็งกลับไม่มีรายละเอียดใดๆ ที่จะชี้แจงต่อสภาฯ มีเพียงเอกสารไม่กี่แผ่นเท่านั้น ซึ่งน่าจะเป็นการตีเช็คเปล่ามากกว่า