(เพิ่มเติม) นายกฯ แจงออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านลบ.เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ

ข่าวการเมือง Thursday March 28, 2013 12:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเช้าวันนี้ถึงความจำเป็นในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ พ.ศ. ... เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเรื่องความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลเคยแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 54 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11

"จากบทเรียนที่ผ่านมีโครงการใหญ่หลายโครงการที่ถูกระงับหรือยกเลิกเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากปัญหาความผันผวนทางการเมือง ทำให้การลงทุนขาดความต่อเนื่อง" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเหตุผลที่เสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแทนการกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำในแต่ละปี

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อปี 49 ส่งผลกระทบให้การพัฒนาเศรษฐกิจถดถอยลง เมื่อเทียบความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศตลอดหนึ่งทศวรรษ มิติการลงทุนที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ไม่มีอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนด้านการขนส่งของประเทศสูงถึง 15% ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศนั้นมีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งจากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ WEF ระบุว่า ในปี 55-56 ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยด้านโครงสร้างพื้นฐานลดลงจากอันดับที่ 42 มาเป็นอันดับที่ 49

"แนวคิดในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อย่างแรกต้องตอบโจทย์การวางยุทธศาสตร์อนาคตของประเทศในระยะยาว และเชื่อมโยงการคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ให้มีความสัมพันธ์กันเพื่อเกิดประสิทธิภาพสูงสุด"น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

สำหรับการลงทุนครั้งนี้จะเชื่อมโยงกับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศไทยที่จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคม และการลงทุนสู่ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงฐานเศรษฐกิจเดิมเข้ากับการต่อยอดฐานเศรษฐกิจใหม่ที่มีประชากรราว 600 ล้านคน

ตามแผนงานจะมีการก่อสร้างโครงการรถไฟรางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง การปรับปรุงระบบด่านเข้า-ออกชายแดนเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการกระจายความเจริญไปยังภูมิภาคและเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยคาดว่าการลงทุนครั้งนี้จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วง 7 ปีข้างหน้า กระตุ้นให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1% ก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ 5 แสนอัตรา

"เราจะทำให้คนในเมืองกรุงนั้นได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความแออัด ขณะเดียวกันก็จะเติมเต็มความเจริญให้กับพี่น้องประชาชนในชนบท เป็นการกระจายความเจริญจากหัวเมืองไปสู่ชานเมือง...เรากำลังขาดการมองไปข้างหน้า เรากำลังพัฒนาประเทศไล่หลังความเจริญ" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงทุนครั้งนี้ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ เหมือนกรณีที่มีการลงทุนก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จนต้องเร่งขยายสนามบินเร็วกว่ากำหนด

นอกเหนือจากการลงทุนตาม พ.ร.บ.นี้แล้ว ยังเสริมการลงทุนด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง โดยการกู้เงินดังกล่าวจะใช้กลไกทางการเงินที่หลากหลาย เน้นเงินกู้ระยะยาว เนื่องจากตลาดตราสารหนี้ของไทยในปัจจุบันมีสภาพคล่องที่สูงมาก และสัดส่วนหนี้สาธารณะจะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้คือ ต่ำกว่า 50% ของ GDP โดยรัฐบาลจะควบคุมดูแลการดำเนินการให้มีความโปร่งใส

ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ชี้แจงว่า ยุทธศาสตร์ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว รัฐบาลต้องการพัฒนาคือเรื่องของระบบรางเป็นหลัก เพราะหากพัฒนาระบบรางได้อย่างเต็มที่จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลงได้ประมาณ 2%

ทั้งนี้ ในอดีตประเทศไทยมีการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐานได้ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก และรัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง

"หน้าที่ของเราต้องผลักดันความฝันความต้องการของประเทศชาติให้เป็นจริง และง่ายมากที่จะอยู่ 2 ปีกว่าๆ โดยไม่ทำอะไรเลย เราต้องการเหนื่อยและทำเรื่องนี้"รมว.คมนาคม กล่าว

สำหรับยุทธศาสตร์ของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าทางถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า 2.ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และ 3. ยุทธศาสตร์พัฒนาและปรับปรุงระบบขนส่งเพื่อยกระดับความคล่องตัว

ทั้งนี้ ใน 3 ยุทธศาสตร์หลักดังกล่าวจะประกอบด้วยแผนงานที่จะดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์รวมทั้งสิ้น 7 แผนงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ