"ผมก็เห็นด้วยว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งที่ดีต่อประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ก็เห็นด้วยในการลงทุน...สิ่งเหล่านี้หรือการลงทุนในสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายฉบับนี้ และส่วนใหญ่กฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องของกระทรวงการคลัง แต่ที่ชี้แจงส่วนใหญ่เรื่องของกระทรวงคมนาคม" นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ฝ่ายค้านไม่ได้มาถกเถียงว่าอยากจะมีรถไฟรางคู่หรือรถไฟความเร็วสูงหรือไม่ แต่การที่จะอนุญาตให้กระทรวงการคลังไปกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และกระทรวงการคลังบอกว่าจะใช้เวลา 50 ปีในการใช้หนี้คืน ซึ่งเมื่อรวมดอกเบี้ยแล้วจะเป็นหนี้จำนวน 5 ล้านล้านบาท
"อยากเตือนรัฐบาลว่าขีดการแข่งขันของประเทศ ยุทธศาสตร์การพัฒนาไม่ได้มีปัญหาเฉพาะเรื่องคมนาคมขนส่ง ขีดความสามารถการแข่งขันในด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่อันดับ 40 กว่า แต่สาธารณสุขอันดับ 70 กว่า การศึกษาอันดับเกือบ 90 เพราะฉะนั้นการจะสร้างความเข้าใจว่าการจะหลุดพ้นจากปัญหารายได้ระดับปานกลาง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแล้วจะดีขึ้น ก็อยากเตือนว่าความจำเป็นในการลงทุนโครงสร้างด้านอื่นๆ ก็ต้องมี การพัฒนาต้องเป็นไปในลักษณะองค์รวมและสอดคล้องต้องกัน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การใช้วิธีการกู้ 2 ล้านล้านบาทนอกงบประมาณ เป็นปัญหาเกี่ยวกับการตรวจสอบและความโปร่งใส รัฐบาลบอกกฎหมายมีเอกสารประกอบ 200 กว่าหน้า แต่จริงๆ แล้วกฎหมายมี 4 หน้า บอกบัญชีแนบท้ายอีก 2 หน้า อีก 200 กว่าหน้าไม่เหมือนเอกสารประกอบงบประมาณที่ต้องนำเสนอ ดังนั้นเวลาดูโครงการต่างๆ 200 กว่าหน้า เราแปลญัตติอะไรไม่ได้เลย มีแค่ 2 หน้าที่บอก เช่น รู้แต่เพียงว่า ใน 2 ล้านล้านบาท ประมาณ 3 แสนกว่าล้านบาทเป็นยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนการขนส่งให้มีต้นทุนถูกกว่า
"เราแปรญัตติได้ก็ตรงนี้ นี่คือความต่างระหว่างการอยู่ในระบบงบประมาณ กับในกฎหมายที่ให้อำนาจท่านไปกู้เงิน ยิ่งไปกว่านั้นถ้าอยู่ในงบประมาณในแต่ละปีก็ตรวจสอบได้ว่าโครงการไปถึงไหน ถ้าไม่ดีก็ตัดได้เปลี่ยนได้ ผู้แทนประชาชนสภาแห่งนี้จะมีอำนาจ แต่พอใช้อำนาจกู้เงินสิ่งเดียวที่เราจะได้ทำ คือรับทราบว่าแต่ละปีทำอะไร แต่ไม่มีอำนาจในการบอกว่าโครงการนี้ต้องตัด ต้องเปลี่ยนต้องแก้ ที่สำคัญความโปร่งใส ที่ทุกคนเป็นห่วงคือปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง ผมไม่ได้ระแวง แต่ยึดถือเอาจากประสบการณ์ของรัฐบาลชุดนี้ เคยฟังนายกฯ บอกว่า 1.2 แสนล้านบาทที่ขอไปจะมีรายละเอียดให้ตรวจสอบอย่างโปร่งใสได้ สุดท้ายภาคประชาชนที่ไปสร้างเครือข่ายกับผมไม่สามารถตรวจสอบได้จนกว่าท่านได้ใช้เงินไปแล้ว ตัวอย่างคือการขุดลอกที่ปรากฎว่าเกิดปัญหาทุจริตมากมาย" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่รับหลักการกฎหมายนี้ ไม่ใช่เพราะไม่อยากเห็นโครงการทั้งหมด แต่โครงการเหล่านี้สามารถทำได้อยู่ในกรอบของการบริหารงบประมาณ หรือหากจะเป็นงบประมาณขาดดุลก็อยู่ในกฎหมายการเงินการคลัง หรือกฎหมายหนี้สาธารณะ การคำนวณดอกเบี้ยที่จะตามมาอีก 3 ล้านล้านบาทก็อยู่บนสมมุติฐานที่ว่าเศรษฐกิจโลกจะอัตราดอกเบี้ยต่ำอย่างนี้ไปอีก 50 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
"อย่ากู้มากอง กู้มาโกง เพิ่มความเสี่ยงให้ประเทศ 50 ปี 5 ล้านล้านบาท แต่โครงการเหล่านี้ไม่มีหลักประกัน พวกกระผมจึงไม่รับหลักการ...ถ้าวันข้างหน้า ถ้าเกิดวิกฤตหรือเกิดความผันผวนของเศรษฐกิจโลกแล้วอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แผนของท่านผิดหมดเลย ไม่ใช่ 50 ปี ไม่ใช่ชาติหน้า แต่เป็นชาติโน้น" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยไม่ได้ประสบวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ คนว่างงานเป็นจำนวน ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องเร่งก่อหนี้ ถ้ารัฐบาลใช้วิธีคิดง่ายๆ ด้วยการกู้เงินจะไม่ระมัดระวังเรื่องวินัยการเงินการคลัง ไม่จัดลำดับความสำคัญของโครงการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน
"ที่ท่านรัฐมนตรีไปให้สัมภาษณ์ว่าที่ไม่อยากทำในระบบงบประมาณ เพราะเดี๋ยวจะดูไม่ดีว่ารัฐบาลขาดดุลแล้วขาดดุลอีก...การที่งบประมาณสมดุลแต่ท่านไปกู้ข้างนอก 2 ล้านล้านบาท บรรดานักเศรษฐศาสตร์ที่ดูสถานะการเงินของประเทศเขาดูออก" นายอภิสิทธิ์ กล่าว