"ผมยืนยันไม่ค้านความเจริญ อยากเห็นประเทศก้าวหน้า แต่วันนี้การกู้ 2 ล้านล้านบาทไม่ใช่แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แต่เป็นแนวทางที่เรียกว่า “เห็นช้างขี้ขี้ตามช้าง" การพัฒนาประเทศต้องใช้งบประมาณประจำปีก็สนับสนุน และต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเชื่อว่านโยบายนี้ ทักษิณคิด ยิ่งลักษณ์กู้ รมว.คมนาคมใช้เงิน ประชาชนใช้หนี้"นายบุญจง กล่าว
ทั้งนี้ ในกฎหมาย 19 มาตราไม่ได้ระบุว่ากระทรวงการคลังจะนำรายได้จากไหนมาใช้คืนหนี้ ทั้ง ๆ ที่การกู้เงินครั้งนี้มีเงินต้นและดอกเบี้ยรวมกว่า 5.16 ล้านล้านบาท ซึ่งหากไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจนก็อาจจะรีดภาษีจากประชาชนไปใช้ชำระหนี้ก็ได้
"ถ้าไม่ชัดเจนเรื่องรายได้ก็หมายความว่าในวันข้างหน้าจะมีการรีดภาษีจากคนไทยหรือการขยายฐานภาษีเพื่อหาเงินมาใช้หนี้"นายบุญจง กล่าว
นอกจากนี้ นายบุญจง กล่าวว่า ไม่เชื่อในความสามารถของรมว.คมนาคมว่าจะบริหารโครงการนี้ให้สำเร็จ เนื่องจากการบริหารของรัฐบาลที่ผ่านมายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาในการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์การการขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) เชื่อว่าหากการสร้างรถไฟความเร็วสูงแล้วให้ รฟท.ดูแลอีกก็จะเจ๊งแน่นอน
อีกทั้งการขอกู้เงินทำผิดรัฐธรรมนูญ หมวด 8 เรื่องการเงินการคลังและงบประมาณในมาตรา 166, 169, 170 การเสนอขอกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มี 3 ยุทธศาสตร์แต่กลับไม่มีรายละเอียด ไม่มีราคากลาง ทำให้ส่อไปในทางที่ไม่โปร่งใส เปิดช่องให้ผู้รับเหมาเขียนราคากลางเอง ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่ายังไม่พร้อม จึงขอเรียกร้องนายกรัฐมนตรีถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกไปและขอไปทำประชามติสอบถามประชาชนก่อน
ด้านนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.ที่มีเพียง 19 มาตรา พร้อมแผนงานโครงการที่เป็นเอกสารแนบ รวมเป็น 6 หน้า แต่กลับมีการแยกรายละเอียดแต่ละโครงการที่จะดำเนินการตามงบประมาณที่กู้มาเป็นเอกสารแนบจำนวน 231 หน้า ซึ่งไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมาย จึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ไม่ได้ระบุถึงการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากเส้นทางที่จะเชื่อมระหว่างหนองคายถึงปาดังเบซาร์ เหลือแค่นครราชสีมาถึงหัวหินเท่านั้น ทั้งที่รัฐบาลชุดที่แล้วโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเคยเสนอการร่วมทุนกับประเทศจีนในการดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อเชื่อมกับทางรถไฟความเร็วสูงจากจีน แต่รัฐบาลปัจจุบันกลับเลิกแนวทางดังกล่าวไป
นอกจากนี้ ยังมองว่าการกู้เงินครั้งนี้มีมูลค่าสูงกว่าที่เคยกู้เงินจาก IMF สมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ถึง 4 เท่า และไม่เชื่อว่าระดับหนี้สาธารณะจะไม่เกิน 50% ของจีดีพี จากสมมุติฐานของรัฐบาล เพราะยังมีภาระจากโครงการประชานิยม อย่างเช่นโครงการรับจำนำข้าว แต่รัฐบาลก็อ้างว่าโครงการจะไม่ขาดดุลงบประมาณหลังปี 56
ด้านนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่าการกู้เงินครั้งนี้ได้ตั้งวงเงินไว้ 2 ล้านล้านบาทและสามารถปรับเปลี่ยนได้ หากยังไม่มีการลงทุนในโครงการใด งบประมาณส่วนนั้นก็จะยังไม่ถูกนำไปใช้ ซึ่งมีการบริหารจัดการโดยฝ่ายบริหาร และมีการควบคุมโดยฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น หาก รมว.คมนาคม นำเงินดังกล่าวไปใช้ในโครงการที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีแนบท้าย ก็ไม่สามารถทำได้ และก็ต้องเป็นผู้ชี้แจงความชัดเจน พร้อมยืนยันเอกสารร่าง พ.ร.บ.กู้เงินครั้งนี้ ไม่ขัดต่อวิธีการงบประมาณ เนื่องจากรัฐบาลได้ทำตามคำแนะนำสำนักงบประมาณ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ในชั้นกรรมาธิการ
อย่างไรก็ตาม ตนให้ความมั่นใจว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินครั้งนี้ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญตามที่นายบรรจงกังวลและเสนอให้มีการจัดทำประชามติ เพราะเรื่องนี้ถือว่าเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้ตีความ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่ใช่เป็นงบประมาณเช่นเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญก็เคยตีความแล้วว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ