(เพิ่มเติม) รมว.คลังยอมรับพรบ.กู้เงิน 2 ล้านลบ.ดอกเบี้ย 3 ล้านลบ. เน้นกู้ในประเทศ

ข่าวการเมือง Thursday March 28, 2013 18:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้กล่าวชี้แจงในสภาผู้แทนราษฎรระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม วงเงิน 2 ล้านล้านบาท โดยยอมรับว่าการกู้เงินดังกล่าวหากมีการใช้ให้หมดภายใน 50 ปี จะมีดอกเบี้ย 3 ล้านล้านบาท เมื่อรวมกับเงินต้นทำให้ประเทศมีภาระหนี้ทั้งหมด 5 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นการกู้ในประเทศ เพื่อให้องค์กรทางการเงินในประเทศได้รับประโยชน์ดอกเบี้ย 3 ล้านล้านบาท ขณะที่การกู้ในต่างประเทศจะมีสัดส่วนเล็กน้อย ซึ่งไม่มีผลกระทบความมั่งคงทางการคลัง และปัจจุบันหนี้ที่เกิดจากการกู้เงินต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ 3-4% ของ GDP ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งใช้คืนโดยเร็ว

"การที่พูดว่ากู้ 2 ล้านล้าน แต่ที่จริงมีดอกเบี้ย 3 ล้านล้านคงจะจริง เพราะเป็นไปตามระยะเวลา 50 ปีตามสมมติฐานที่ว่า ซึ่งตามที่รัฐบาลยืนยันหลายครั้งว่าสภาพคล่องในประเทศดีมาก การกู้เงินนั้นจะกู้ในประเทศเป็นหลัก การกู้จากต่างประเทศจะทำน้อยมากจริงๆ แต่รัฐบาลเห็นประโยชน์ว่าสภาพคล่องในประเทศมีมาก ดอกเบี้ย 3 ล้านล้านควรตกอยู่ที่คนไทยเกือบทั้งหมด" นายกิตติรัตน์ กล่าว

รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลจะดูแลหนี้สาธารณะไม่ให้เกิน 50% ของ GDP ซึ่งยังน้อยกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ 60% ของ GDP พร้อมยืนยันว่าการกู้เงินเพื่อการลงทุนจะมีการดูแลให้ไม่มีการทุจริตคอรัปชั่น และให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์และแผนงานที่รัฐบาลได้กำหนดไว้

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รมว.คมนาคม ชี้แจงถึงข้อสงสัยกรณีที่รัฐบาลไม่นำเอกชนมาร่วมลงทุนว่า ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งที่รัฐจำเป็นต้องลงทุนเอง แต่อาจมีบางโครงการที่สามารถดำเนินการลักษณะการร่วมทุนได้ เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง พร้อมปฏิเสธว่ายังไม่มีการลงนามกับบริษัทต่างชาติในโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งหากจะมีการร่วมทุนจริงไม่ว่ากับประเทศใดจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด

พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลมีความพร้อมในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่จะสามารถเชื่อมต่อได้เมื่อใดนั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว และมาเลเซียด้วย

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงมีมาแล้วที่ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ในส่วนของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กระทรวงคมนาคมได้มีการศึกษาเบื้องต้นไว้ตั้งแต่ปี 52 จากนั้นมีการนำของจีนและญี่ปุ่นมาศึกษารายละเอียด ตัวเลขผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม(EIRR) ในเบื้องต้น 14-17% ซึ่งป็นตัวเลขที่พอรับได้ รวมถึงต้องมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ก่อนเข้าสู่คณะรัฐมนตรีต่อไป

สำหรับการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าความเร็วสูงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ขอชี้แจงว่าการเชื่อมต่อโลกไม่ใช่เชื่อมต่อเฉพาะรถไฟฟ้าความเร็วสูงอย่างเดียวมีทั้งรถไฟทางคู่ที่จะเชื่อมไปประเทศลาว เป็นต้น แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าฝ่ายไหนจะลงทุนเพราะแผนเดิมที่จีนจะขอช่วยลงทุนเส้นทาง 500 เมตร ก็เป็นไปไม่ได้แล้ว ดังนั้นต้องเป็นการกู้เงินซึ่งการพัฒนาต่อจึงยังไม่ชัดเจน ส่วนทางตอนใต้ที่จะเชื่อมไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์เป็นแค่การคุยกันเบื้องต้นยังไม่ลงรายละเอียด

ดังนั้นการเชื่อมโลกถึงเวลาเราเชื่อมต่อแน่ และชี้ให้เห็นว่าเราไม่สามารถนำเงินทั้งหมดไปรวมก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงได้ เพราะมีโครงการอื่นที่จำเป็นด้วยเช่นกันต้องจัดสรรให้เหมาะสมตามช่วงเวลา แต่ก็ยืนยันว่าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเป็นสิ่งสำคัญ

ส่วนการบริหารจัดการในการก่อสร้างคงต้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เป็นผู้รับผิดชอบในเบื้องต้น เพราะเป็นเจ้าของเขตทางส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาปรึกษาการบริหารจัดการซึ่งอาจจะเป็นหน่วยธุรกิจภายใต้รถไฟและหนุนออกมาเป็นบริษัทต่างหากเพื่อดูแลระบบรถไฟความเร็วสูงที่อยู่เหนือราง โดยวิธีตรงนี้ยังพอมีเวลาจัดตั้งตัวบริษัทดังกล่าวถ้ามีการอนุมัติผ่านร่างพ.ร.บ.กู้เงินนี้ และคิดว่าไทยมีความร่วมมือกับหลายประเทศอยู่ตามกรอบ MOU

ทั้งนี้การออกแบบทางขึ้นอยู่กับรถที่ใช้ต้องพึ่งองค์ประกอบหลายอย่าง ต้องพึ่งระบบสัญญาณ ระบบส่งกำลัง น้ำหนักตัวรถ ความละเอียดอ่อนของตัวรางฯลฯ ซึ่งถือเป็นแนวปฎิบัติหลักสากล อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังคงเป็นแค่แนวคิดยังไม่ได้ร่วมจับมือกับใคร ไทยจึงยังมีสิทธิเลือกเทคโนโลยีว่าจะใช้รูปแบบประเทศใด

ส่วนที่มีการมองว่าเร่งรัดโครงการนั้น รมว.คมนาคม เห็นว่าเป็นหน้าที่ที่รัฐมนตรีต้องทำอยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นโครงการก็จะล่าช้า อีกทั้งเป็นสิ่งที่รัฐบาลเคยแถลงไว้ว่าจะต้องผลักดันโครงการให้เกิดขึ้นจริง แต่ก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนทุกอย่างไม่มีทางลัดขั้นตอนได้

ด้านนายสรรเสริญ สมะลาภา ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 2 ล้านล้านบาท แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพราะประเมินว่าการกู้เงินครั้งนี้จะทำให้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 60% ของจีดีพีอย่างแน่นอน ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีต รมว.คลัง คาดการณ์ไว้ถึง 70% ของจีดีพี ดังนั้นรัฐบางจึงควรระบุแหล่งเงินทุนเพื่อให้ชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนและภาคเอกชน

ขณะเดียวกันมองว่าโครงการต่างๆ มีช่องทางในการลงทุนทั้งระบบงบประมาณรายจ่ายปกติ และการเปิดโอกาสให้มีการลงทุนร่วมกับต่างประเทศได้ โดยไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายกู้เงินและรับภาระดอกเบี้ยที่สูงถึง 80,000 ล้านบาทต่อปี หากรวมกับเงินต้นที่ทำการกู้ จะมีหนี้ที่ต้องใช้คืนถึง 5.16 ล้านล้านบาท ซึ่งตนขอเปลี่ยนชื่อจาก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท มาเป็น พ.ร.บ.กู้เพื่อให้ประชาชนใช้หนี้ 5 ล้านล้านบาทแทน

อย่างไรก็ดี มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลใน 3 ประเด็นคือ 1.เรื่องการชำระหนี้ระยะแรกที่ไม่ได้กำหนดแผนการคืนเงินต้น ซึ่งไม่ได้กำหนดไว้ในเอกสาร จึงควรมีการกำหนดไว้ด้วย 2.รัฐบาลควรให้สัตยาบรรณว่าจะไม่มีการกู้เพื่อสร้างหนี้เพิ่มอีก หลังจากสิ้นสุดกำหนดตาม พ.ร.บ.เนื่องจากการกู้ครั้งนี้มีมูลค่าสูงแล้ว 3.เรียกร้องให้มีการบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ไว้ในร่าง พ.ร.บ.เพื่อป้องกันการทุจริตและต้องไม่เป็นไปตามอำนาจของคณะรัฐมนตรีในการจัดซื้อจัดจ้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ