"ถ้าค่าโดยสาร 1,800 บาท/เที่ยว/คน ก็จะมีแต่นักธุรกิจหรือคนรวยที่ได้ขึ้น คนจนจะไม่ได้ขึ้น การลงทุน 2 ล้านล้านจะได้ประโยชน์เฉพาะคนรวยเท่านั้น หวังว่าการลงทุนเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำจะมีมากขึ้นด้วย เรื่องนี้ไม่ใช่ความกล้าหาญของรัฐบาล แต่เป็นความบ้าบิ่นมากกว่า ไม่ควรเอาประเทศมาใช้ความบ้าบิ่น เพราะจะเป็นอันตรายต่อประเทศ"นายกนก กล่าว
ขณะที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป.กล่าวว่า การจัดสรรเงินลงทุนระบบรางเป็นการจัดสรรตามภาคนิยม ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญตามความจำเป็นเร่งด่วนและไม่มีการนำหลักวิชาการมาใช้ อย่างไรก็ตาม สนับสนุนการสร้างรถไฟรางคู่ เพราะเป็นห่วงว่ารถไฟความเร็วสูงจะมีผู้ใช้บริการน้อย อีกทั้งมีคู่แข่งที่ราคาถูกกว่าคือ สายการบินต้นทุนต่ำ จึงอยากให้รัฐบาลพัฒนาระบบรางคู่จำนวน 3,039 กิโลเมตรให้มีคุณภาพดี หากเหลือเงินก็ค่อยไปทำรถไฟความเร็วสูง
ทั้งนี้ การสร้างรถไฟความเร็วสูงมีตารางสรุปผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) พบว่าผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ(EIR) เส้นทางกทม.-หนองคาย น่าจะสร้างเป็นลำดับแรก แต่รัฐบาลกลับสร้างเส้นทาง กทม.-เชียงใหม่เป็นลำดับแรก
"อยากให้คนอีสานจำไว้ว่ารัฐบาลชุดนี้รักคนภาคอีสานน้อยกว่าคนภาคเหนือ"นายสามารถ กล่าว
ทั้งนี้ เส้นทาง กทม.-เชียงใหม่ หากเชื่อมกับจีนไม่ได้ตามที่รัฐบาลระบุว่าจะเชื่อมไทยสู่โลกก็จะได้เพียง กทม.-เชียงใหม่ เท่านั้น พ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าวจะถูกข้อครหาว่าเป็นฉบับบ้านเกิดเมืองนอนของฉัน