พร้อมกันนี้ เลขาธิการ สมช. ยังเห็นว่าการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นในครั้งนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จ และรอการพิสูจน์ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ว่าภาพรวมของเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะลดลงได้จริงหรือไม่หลังจากที่มีการหารือกันไปวานนี้(28 มี.ค.)
"ข้อเสนอทั้ง 2 ฝ่าย จะมีการพูดคุยกันอีกครั้งในวันที่ 29 เม.ย.นี้ ซึ่งช่วงเวลานับจากนี้จนถึงวันที่ 29 เมษายน จะเป็นการพิสูจน์ข้อเสนอของไทยที่ให้กลุ่มบีอาร์เอ็นลดการก่อเหตุรุนแรง โดยทางบีอาร์เอ็นรับปากจะไปพูดคุยกับกลุ่มอื่นๆ ด้วย" เลขาธิการ สมช.กล่าว
พร้อมเชื่อว่า นายอัสซัน ตอยิบ มีบาทบาทในกลุ่มบีอาร์เอ็น และสามารถควบคุมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มอื่นได้ แต่ยอมรับว่าการพูดคุยเมื่อวานนี้นอกจากกลุ่มบีอาร์เอ็นแล้วยังมีกลุ่มพลูโลร่วมพูดคุยด้วย แต่บางส่วนมีการคลุมหน้าเพื่อป้องกันตัวเอง ซึ่งฝ่ายไทยมองว่าไม่ได้เป็นการเสียเปรียบ แต่ยอมรับว่าอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย หากบุคคลที่คลุมหน้าเป็นแกนนำที่มีหมายจับความมั่นคง
เลขาธิการ สมช. กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ทางฝ่ายความมั่นคงมีหมายจับผู้ก่อความไม่สงบโดยมีตัวเลขอยู่ที่หลักพันคน ไม่ใช่ 30,000 คน ตามที่มีการรายงานข่าวว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นขอให้ทางการไทยลบบัญชีดำดังกล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มบีอาร์เอ็นที่ร่วมพูดคุยไม่ได้กำหนดกรอบว่าจะต้องขอความยุติธรรมให้กับแกนนำคนสำคัญอย่างนายมะแซ อุเซ็ง ก่อนหรือไม่ เพียงเป็นการยื่นข้อเสนอในภาพรวม
อย่างไรก็ดี ในการพูดคุยอีกครั้งวันที่ 29 เม.ย.นี้ คงไม่ได้เชิญ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมเดินทางไปด้วย แต่คงจะเป็นการขอคำปรึกษาหารือในเรื่องนี้แทน