ซึ่งการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวเพียงไม่กี่วันนั้น ก็คงไม่สามารถอธิบายและสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนทั้งประเทศได้ ขณะเดียวกันแม้จะมีนักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการหลายคนออกมาคัดค้าน และมีข้อเสนอแนะเรื่องการกู้เงินครั้งนี้ แต่รัฐบาลกลับไม่รับฟัง
ในระหว่างการอภิปรายนายบุญยอด ได้นำบทสัมภาษณ์ของนายวิป วิญญรัตน์ คณะทำงานประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี บุตรชายนายพันธ์ศักดิ์ วิญญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ได้รับงานจากรัฐบาลให้วิจัยเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยเป็นผู้จัดนิทรรศการ "ไทยแลนด์ 2020" ทั้งๆ ที่นายวิป ไม่มีความรู้ด้านวิศกรรมและรถไฟความเร็วสูงเลย เพราะจบปริญญาตรีด้านปรัชญา ปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์
ด้านนายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอภิปรายว่าไม่เห็นด้วยกับวิธีการกู้เงินของรัฐบาล ขณะเดียวกันเห็นด้วยกับแนวคิดของผู้นำฝ่ายค้านที่มองว่ามีวิธีการหาเงินลงทุนได้ดีกว่านี้ เพื่อไม่เป็นการสร้างภาระหนี้ให้คนรุ่นหลัง พร้อมมองว่าการลงทุนของรัฐบาลผิดหลักแห่งความสมดุลที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพียงอย่างเดียว ทั้งที่โครงสร้างอื่นที่สำคัญหลายด้านยังมีปัญหา เช่น สาธารณสุข เทคโนโลยี ศักยภาพของแรงงานบุคลากรในประเทศ จนไปถึงความไม่สมดุลที่เลือกปฏิบัติลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ เช่น พื้นที่ฝั่งตะวันตก และอีสานใต้ที่โครงการรถไฟรางคู่ไปไม่ถึง สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่
พร้อมมองว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้ตอบโจทย์การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในภูมิภาคตามที่ประกาศต่อนานาประเทศได้ เนื่องจากไม่มีโครงสร้างที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศตามที่รัฐบาลอ้างไว้ อีกทั้งหลักการของร่าง พ.ร.บ.ยังไม่มีวินัยทางการเงิน โดยเฉพาะในมาตรา 6 และ 9 ที่ให้กระทรวงการคลังปล่อยกู้โครงการต่อ และให้อำนาจแก่คณะรัฐมนตรีในการบริหารโครงสร้างหนี้และเปลี่ยนแปลงการทำธุรกรรมทางการเงิน ประกอบกับกฎหมายร่วมทุนกับเอกชนที่จะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ชี้แจงกรณีที่ฝ่ายค้านมีข้อสงสัยถึงการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงว่า รัฐบาลมีความชัดเจนในการกำหนดเส้นทางเดินรถไฟความเร็วสูง ในส่วนของต้นทางและปลายทางทั้ง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-หัวหิน ซึ่งการเริ่มโครงการก่อสร้างจะดำเนินการโดยภาครัฐทั้งหมด และส่วนต่อขยายไปยังหนองคายจะเป็นการร่วมทุนกับภาคเอกชน และราคาค่าก่อสร้างต่อกิโลเมตรที่มีการปรับขึ้นจาก 300 ล้านบาท/กม. เป็น 600 ล้านบาท/กม.นั้น เนื่องจากมีการปรับรูปแบบจากคันดินเป็นคอนกรีตเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัย
ส่วนที่หลายฝ่ายมองเรื่องการใช้พลังงานไฟฟ้านั้นยืนยันว่าระบบรถไฟความเร็วสูงใช้ไฟฟ้าเพียงร้อยละ 1 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ