ที่ประชุมร่วมรัฐสภาถกแก้ รธน.ป่วนไม่พอใจ"นิคม"นั่งทำหน้าที่ประธาน

ข่าวการเมือง Monday April 1, 2013 16:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากรัฐสภา แจ้งว่า เกิดเหตุการณ์วุ่นวานในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม 3 ฉบับ ในมาตรา 68, มาตรา 190 และมาตรา 237 เมื่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุม เนื่องจาก ส.ส.ฝ่ายค้านเห็นว่าอาจไม่เป็นกลาง เพราะหนึ่งในผู้ที่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติ ขณะที่เจ้าตัวดึงดันจะทำหน้าที่ต่อไป พร้อมท้ายื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ ส่งผลให้การพิจารณาเริ่มต้นล่าช้ากว่ากำหนดเวลาเกือบ 1 ชั่วโมง

ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ยืนยันว่า นายนิคมสามารถทำหน้าที่ประธานการประชุมได้ และสามารถร่วมลงนามเสนอร่างกฎหมายได้ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา เนื่องจากนายนิคมสวมหมวก 2 ใบ คือประธานวุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภา ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯ ลุกขึ้นอภิปราย โดยขอให้นายสมศักดิ์ไปหารือกับนายนิคม และขอให้นายนิคมเป็นผู้พิจารณาตัวเองว่า ควรจะทำหน้าที่ในฐานะประธานการประชุมหรือไม่ หากนายนิคมจะยังยืนยันที่จะทำหน้าที่ต่อไปขอให้ชี้แจงต่อที่ประชุมด้วย

จากนั้น ส.ส.และ ส.ว.ผู้เสนอร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ได้กล่าวถึงหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างแก้ไขดังกล่าว และได้เปิดให้สมาชิกอภิปราย ซึ่งนายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอ เพราะต้องยอมรับความจริงว่า ปัจจุบันประชาชนไม่ไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้น อาทิ ตำรวจหรืออัยการสูงสุด ดังนั้นจึงขอเรียกร้องว่า ไม่ควรตัดช่องทางของประชาชนในการร้องศาลรัฐธรรมนูญ และไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 68 ขณะเดียวกันนายนิพิฎฐ์เห็นด้วยที่จะไม่ให้มีการพิจารณายุบพรรคการเมือง แต่ไม่เห็นด้วยกับการยกเว้นการลงโทษกรรมการบริหารพรรคที่ปล่อยให้สมาชิกพรรคทุจริต

ต่อมาเวลา 13.30 น.นายนิคมได้มานั่งทำหน้าที่ประธานการประชุม ทำให้ ส.ส.ประชาธิปัตย์หลายคนลุกขึ้นท้วงติง และขอให้เสียสละด้วยการงดเว้นทำหน้าที่ เพราะเกรงว่าจะทำหน้าที่ไม่เป็นกลางและหากนายนิคมยังทำหน้าที่ต่ออาจต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ รวมไปถึงนายอภิสิทธิ์ได้ลุกขึ้นทวงถามถึงจุดยืนของนายนิคมด้วย

ขณะเดียวกัน ส.ว.บางส่วน เช่น นายสมชาย แสวงการ ส.ว. สรรหา ได้ท้วงติงการทำหน้าที่ดังกล่าวโดยต้องการให้มีการหารือกับฝ่ายกฎหมายเพื่อให้ได้ข้อสรุปเพื่อป้องกันการประชุมสะดุด และระหว่างที่นายนิคมทำหน้าที่ ไมโครโฟนของนายนิคม ใช้งานไม่ได้ช่วงหนึ่งด้วย

ทั้งนี้นายนิคมชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ได้มีการหารือกับนายสมศักดิ์แล้ว พร้อมทั้งระบุว่า หากตนเองทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง สามารถท้วงติงได้ ส่วนการลงชื่อร่วมเสนอญัตติเป็นเอกสิทธิ์ของตนเองและไม่มีเรื่องขัดกันของผลประโยชน์ และขอให้สมาชิกยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ หากเห็นว่าทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง

"ผมรู้ว่าสวมหมวกใบไหน ไว้ใจผมเถอะครับ ผมไม่รู้จะเสียสละเรื่องอะไร ถ้าคิดว่าผมทำอะไรขัดรัฐธรรมนูญก็ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้เลย" นายนิคม กล่าว

แม้จะมีการชี้แจงจากนายนิคมแต่ยังไม่ได้ทำให้บรรยากาศในที่ประชุมดีขึ้น เนื่องจากยังมีความเคลือบแคลงสงสัยในการทำหน้าที่ จึงเกิดการประท้วงระหว่าง ส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล และบรรดา ส.ว.เป็นเวลานานหลายชั่วโมง โดย ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล อาทิ นายสุนัย จุลพงศธร, นายสามารถ แก้วมีชัย, นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน, จ่าสิบตำรวจประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ได้ประท้วง ส.ส.ฝ่ายค้าน พร้อมสนับสนุนให้ประธานทำหน้าที่ต่อไป ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน อาทิ นายเทพไท เสนพงษ์, นายสุกิจ อัตโถปกรณ์, นายธนา ชีรวินิจ, นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ได้ประท้วงถึงความไม่เหมาะสมในการทำหน้าที่

ต่อมานายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ส.ว.สรรหา ที่ถอนรายชื่อในการเสนอร่าง ลุกขึ้นประท้วงนายนิคม ที่เคยระบุว่า ส.ว.ที่โดนหลอก แล้วถอนรายชื่อ "สมควรตาย" ทำให้เกิดการปะทะคารมกัน โดยนายนิคมปฏิเสธว่าไม่เคยระบุตามที่เป็นข่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีการประท้วงการทำหน้าที่ของนายนิคมจนทำให้นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เสนอทางออกให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ขึ้นมาทำหน้าที่แทนก่อน เพื่อยุติความวุ่นวายที่เกิดขึ้น เนื่องจากยังไม่สามารถเข้าสู่วาระที่จะมีการพูดคุยกันได้นานกว่า 4 ชั่วโมง แล้วค่อยมีการตกลงกันภายหลังถึงความเหมาะสมในการทำหน้าที่ของนายนิคม จึงทำให้มีการเปลี่ยนตัวประธานที่ประชุมตามข้อเสนอดังกล่าว

ทั้งนี้นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้เสนอให้มีการหาทางออกที่ชัดเจน โดยควรจะปรึกษากับฝ่ายกฏหมายเสียก่อน ว่านายนิคมสามารถทำหน้าที่ได้ต่อไปหรือไม่ เพราะยังต้องมีการอภิปรายต่อเนื่องถึง 3 วัน เพื่อไม่ให้เกิดการประท้วงเป็นระยะๆ หากนายนิคมขึ้นมาทำหน้าที่ โดยนายสมศักดิ์ ระบุว่า จะมอบให้ฝ่ายกฏหมายรับไปดำเนินการ และจะมีการแจ้งให้กับสมาชิกได้รับทราบ จึงทำให้การประชุมรัฐสภาเดินหน้าต่อไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ