"พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย การปฏิรูป ปรองดอง แต่ทั้ง 3 ร่างที่เสนอมาไม่เป็นไปตามแนวทางดังกล่าว เพราะตัดโอกาสฝ่ายที่เห็นต่างและประชาชนในการตรวจสอบ"นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 โดยมองว่าเป็นการแก้ไขที่ตัดรายละเอียดกรณีต่างๆของหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องเข้าหลักเกณฑ์พิจารณาในรัฐสภา และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความเห็น ทั้งที่ควรมีตัวแทนประชาชนเข้าร่วม หากมีโครงการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน พร้อมเปรียบเทียบกับแนวทางของสหรัฐที่กำหนดให้การทำหนังสือสัญญาใดๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน
กรณีที่มักมีการอ้างว่าไม่ได้รับความสะดวกในการเปิดแนวทางการเจรจาระหว่างประเทศนั้น นายอภิสิทธิ์ ยอมรับว่ามาตราดังกล่าวทำให้เกิดความล่าช้า แต่อาจมีบางมุมที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ประชาชนที่รัฐสภามองเห็น แต่รัฐบาลอาจละเลยไป และการพิจารณาในกรณีที่เข้าข่ายมาตรา 190 ส่วนใหญ่มีเรื่องที่เป็นกรอบกว้างๆ จึงมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ในการพิจารณากรณีที่เข้าข่ายมาตรา 190 แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่เดินหน้าผลักดันหลักการต่อ แต่มุ่งที่จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ
ประกอบกับการระบุในร่างเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนเรื่องอาณาเขตไทยที่ตัดเรื่องอำนาจอธิปไตยนอกอาณาเขตนั้น อาจทำให้สุ่มเสี่ยงต่อผลประโยชน์พื้นที่ทักซ้อนทางทะเล จึงไม่เห็นด้วยในการแก้ไขมาตรา 190
ส่วนการแก้ไขมาตรา 68 และมาตรา 237 เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งโดยหลักการแล้ว นายอภิสิทธิ์ แสดงความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยหากจะมีการยุบพรรคการเมืองในกรณีกระทำผิดการเลือกตั้ง แต่เหมาะสมให้ยุบพรรคในกรณีล้มการปกครองตามมาตรา 68
แต่การตัดสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม ถึงแม้มีการอ้างว่ามีเพียงบุคคลเดียวในพรรคกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับกรรมการบริหารพรรค เพราะไม่มีทางที่คณะกรรมการบริหารพรรคจะออกมติให้กระทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจน จึงอาจมีความเชื่อมโยงกันในการกระทำผิดกฎหมาย แต่ขณะนี้ร่างแก้ไขมาตรา 237 มีการตัดความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคออกไป และยังมีการนิรโทษกรรมความผิดผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองอีกด้วย
นายอภิสิทธิ์ ยังตั้งข้อสงสัยว่าถึงความเชื่อมโยงการแก้ไขมาตรา 237 มาถึงมาตรา 68 ว่า เป็นการตัดสิทธิไม่ให้ประชาชนยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อพบว่ามีการล้มล้างการปกครองหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญ ซึ่งการที่อ้างว่าต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดความชัดเจนก็ฟังไม่ขึ้น เพราะปัญหานี้จบไปตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าประชาชนสามารถยื่นตรงได้ ถือว่ามีผลผูกพันกับทุกองค์กร แต่กลับมีการแก้สวนทางกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มาเป็นให้ประชาชนใช้สิทธิผ่านอัยการได้ช่องทางเดียว
ขณะที่การแก้ไขประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา นายอภิสิทธิ์ มองว่า ยังไม่ใช่คำตอบ เพราะการกำหนดว่าห้ามไม่ให้สังกัดพรรคการเมืองก็ไม่มีหลักประกันได้จริงหรือไม่ และมองว่าการแก้ไขในประเด็นนี้ถอยหลังมากกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 เพราะกำหนดให้ ส.ว.ลงสมัครเลือกตั้งติดต่อกันได้โดยไม่ต้องเว้นวรรค ทำให้วุฒิสภาเหมือนสภาผู้แทนราษฎร เพียงแต่ลงเลือกตั้งไม่เปิดเผยว่าสังกัดพรรคไหนเท่านั้น สอดคล้องกับแนวคิดรุกคืบรวบอำนาจ เพื่อหวังผลเสียงสนับสนุนจากบุคคลที่ต้องการเป็นวุฒิสภามากกว่า 1 วาระ ซึ่งที่จริงแล้วในปัจจุบันวุฒิสภาไม่มีผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี การไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐบาล หรือชี้นำในเรื่องกฎหมาย เพราะสุดท้ายเป็นสิทธิของสภาที่จะไม่ทำตามวุฒิสภาได้
นอกจากนี้ ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวถึงปัญหาที่ทำให้บรรยากาศการประชุมร่วมรัฐสภาไม่ราบรื่น เป็นเพราะคนที่ทำหน้าที่ไม่คิดถึงหลักใหญ่ ไม่แยกแยะว่าการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองมีความขัดกันของผลประโยชน์หรือไม่ ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาของการเมืองไทยมาโดยตลอด ดังนั้นไม่ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อีกกี่ครั้งก็แก้ปัญหาไม่ได้
ส่วนกรณีการให้สัมภาษณ์ของนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาที่ยืนยันว่า ไม่ถอนตัวจากการทำหน้าที่ประธาน เพราะเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ ประวิงเวลาตีรวนแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการประวิงเวลา เพราะตกลงกันเรียบร้อยแล้วว่าจะอภิปรายสามวัน โดยพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ห้ามปฏิบัติหน้าที่ แต่ขอให้ถอนชื่อ เพื่อรักษาความสง่างามและความถูกต้องของผู้ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาในที่ประชุมเท่านั้น