"การกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการทำตามหน้าที่ที่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งระงับการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อาจจะทำให้คำวินิจฉัยขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดที่จะเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยผ่านการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ" นพ.ชลน่าน กล่าว
ส่วนข้อกังวลว่าเมื่อปล่อยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แล้วจะเปิดช่องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นเพียงการคาดการณ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าไม่ถือเป็นการกระทำความผิดต่อบทบัญญํติแห่งรัฐธรรมนูญ
ด้านนายชนินทร์ หาญสืบสาย ส.ว.ตาก หยิบยกมาตรา 190 ขึ้นมาอภิปราย โดยชี้ให้เห็นว่า การทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ โดยผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนนั้น อาจสร้างปัญหาในทางปฏฺบัติให้กับฝ่ายบริหาร และการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะกระบวนการในการทำหนังสือสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศซึ่งทำให้เกิดความล่าช้า และความเสียหายต่อภาพรวมของประเทศ จึงควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อจัดทำกฎหมายว่าด้วยการให้ประชาชนเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญา
ส่วนนายจตุพร เจริญเชื้อ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปรายว่า ตนเองสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ เพราะรัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ตามมาตรา 291 แต่ก็มีเงื่อนไขว่าถ้าเป็นรูปแบบเปลี่ยนแปลงการปกครองจะกระทำไม่ได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีการแก้ไขมาแล้ว วันนี้เราเสนอแก้ไขทั้งหมด 3 เรื่องเพื่อให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย นิติรัฐ และนิติธรรม โดยเฉพาะมาตรา 68 ที่กลุ่ม 40 ส.ว.ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้มีคำสั่งยุติการกระทำดังกล่าว และยุบ 6 พรรคการเมือง แต่อันที่จริงการแก้ไขมาตรา 68 ครั้งนี้เป็นเพียงแก้ให้เกิดความชัดเจนในการตีความ โดยให้ผู้ที่จะร้องศาลรัฐธรรมนูญต้องยื่นเรื่องผ่านอัยการสูงสุด
"น่าแปลกใจว่าเมื่อวาน(2เม.ย.) มีการไปยื่นตอนเช้า แต่ช่วงบ่ายเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญก็ให้สัมภาษณ์ทันทีว่าจะเสนอคำร้องดังกล่าวให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวันนี้ ซึ่งถือว่ารวดเร็วมาก ต่างจากช่วงที่มีม็อบองค์การพิทักษ์สยามที่มีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญก่อนถึง 9 วันแต่ศาลกลับยกคำร้องทั้งที่จะมีการชุมนุมเพื่อแช่แข็งประเทศไทย"นายจตุพร กล่าว
ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ในครั้งนี้ไม่มีสิ่งใดที่จะบ่งบอกเลยว่าจะล้มล้างการปกครอง โดยตนเองจะติดตามว่าหลังเวลา 15.00 น.ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติออกมาอย่างไร
นายวิทยา บูรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปรายว่า อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติถือว่าสำคัญที่สุด ที่ได้มาจากระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ซึ่งสมาชิกรัฐสภามีหน้าที่เป็นผู้ตรากฎหมายก่อนที่หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญนำไปปฏิบัติ ดังนั้นการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้งมาตรา 68 และ 237 เป็นการกระทำอันงดงาม โดยใช้อำนาจที่สมาชิกรัฐสภามีอยู่ตามรัฐธรรมนูญเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 291 แต่ฟังการอภิปรายบางเรื่องยังมีผู้ที่ไม่เข้าใจที่บอกว่าทำไมไม่ไปแก้ปัญหาเรื่องอื่นก่อน เช่น ปัญหาภัยแล้ง เรื่องยางพารา ปัญหาราคาข้าวของแพงก่อน ซึ่งตนมองว่าปัญหาเหล่านั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี แต่ในสภาฯทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ คือตรากฎหมาย จึงต้องให้สมาชิกรัฐสภาถามตัวเองก่อนว่าตัวเองมีหน้าที่ทำอะไร
นายวิทยา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ความชัดเจนจะต้องมีเพื่อให้กระบวนการพิจารณาไม่มีปัญหาในการตีความและการคานอำนาจ รัฐสภาแห่งนี้ได้ผ่านกฎหมายเพื่อให้องค์กรอัยการมีความเป็นอิสระ ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถครอบงำองค์กรอัยการได้ แต่การยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องผ่านอัยการก่อนเพื่อกลั่นกรองกฎหมาย และการที่อัยการไปเป็นที่ปรึกษากฎหมายตามบริษัทเอกชนนั้นเพื่อเป็นผู้แนะนำในเรื่องกฎหมาย ทั้งนี้ตนเองมองว่าผู้ที่นำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีความคิด ทำไมไม่ใช้กระบวนการแปรญัตติหากมีความเห็นต่าง และหากฝ่ายนิติบัญญัติไม่เชื่อมั่นในตัวเองก็ไม่ควรมาสมัครเป็น ส.ส. และ ส.ว. ส่วนตัวคิดว่าตนมีวิจารณญาณดีเพราะเชื่อมันในฝ่ายนิติบัญญัติ
นายวิทยา กล่าวว่า มาตรา 190 เกี่ยวกับสัญญากับต่างประเทศว่า สิ่งที่ไทยไม่สามารถทัดเทียมต่างประเทศได้เพราะมาตรา 190 เพราะเกิดความไม่เชื่อมั่นในการบริหารราชการ ถ้าฝ่ายค้านบอกว่าถ้ามาตรา 190 จะเป็นการตัดสิทธิ์การตรวจสอบก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ประเทศไทยจะไปเจรจากับใครคณะรัฐมนตรีต้องมีอำนาจในส่วนหนึ่งด้วย ส่วนกระบวนการตรวจสอบก็สามารถทำได้ ขณะที่เรื่องที่มาของวุฒิสภาดูเสมือนว่าสมาชิกมีความหวาดกลัวว่าพรรคการเมืองจะครอบงำสมาชิกวุฒิสภา แต่หลายครั้งวุฒิสภาก็ไม่ได้ทำอะไรตามที่นักการเมืองต้องการ ดังนั้นจึงอย่ามีอคติเพราะเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเลือกให้ใครมาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ทั้งนี้ความเห็นต่างหรือเห็นคล้อยเห็นตามนั้นเห็นได้ แต่ต้องรู้ว่าเรามีหน้าที่อะไร