พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเรื่องการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการคมนาคมผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโต ลดต้นทางด้านขนส่ง สร้างความเชื่อมั่นต่อต่างประเทศ และสามารถใช้หนี้ได้หมดก่อน 50 ปี
"อีกแง่มุมเพื่อความเข้าใจโครงการ 2 ล้านล้าน ผมขอเล่าเศรษฐกิจประเทศเปรียบเทียบกับธุรกิจให้ฟัง ตอนสมัยผมทำธุรกิจ เวลาจะกู้หนี้ยืมสิน เขาจะดูสัดส่วนของหนี้ต่อทุนเพื่อรักษาไว้ไม่ให้เกิน 2 หรือมากสุด 2.5 เท่าต่อ 1 เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจะแข็งแรง ส่วนเศรษฐกิจประเทศนั้นเขาจะรักษาสัดส่วนของหนี้ต่อ GDP ของประเทศไม่ให้เกิน 50% ถือว่าดีเยี่ยม ไม่เกิน 60% ถือว่ายังดีอยู่ แต่ประเทศที่มีฐานรายได้ทางภาษีใหญ่ๆเขายอมให้สูงกว่านี้ เช่น ญี่ปุ่น มีหนี้เกือบ 200% ต่อ GDP แต่ตัวเลขของสัดส่วนย่อมเปลี่ยนไปถ้า GDP หรือเศรษฐกิจประเทศโตขึ้นเหมือนบริษัท ถ้าบริษัทมีรายได้มากขึ้นมีกำไรสะสมมากขึ้นสัดส่วนของหนี้ต่อทุน(ส่วนของผู้ถือหุ้น) ก็จะลดลง เพราะมีกำไรสะสมมาเพิ่มเช่นกันครับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล คือการลงทุนให้เศรษฐกิจของประเทศโตขึ้นทั้งทางตรงทางอ้อมทางตรงคือเงินที่ลงทุนและไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทางอ้อมคือโครงสร้างพื้นฐานนั้นไปลดค่าใช้จ่ายทางการขนส่ง ลดการใช้พลังงาน ลดความสึกหรอของถนนที่มีอยู่เดิม ไปเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านความสะดวกในการสัญจร การเกิดกิจกรรมการค้าการขายมากขึ้น ที่ดินราคาดีขึ้นตามความเจริญที่เข้าถึง ความเชื่อมั่นที่ต่างประเทศนำเงินเข้ามาลงทุน การแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรกับค่าเครื่องจักร ค่าก่อสร้าง ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวว่าหนี้จะพุ่งข้างเดียวเพราะรายได้ก็พุ่งด้วย สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จึงจะไม่สูงอย่างที่วิตก และก็ไม่ต้องรอว่าจะต้องใช้หนี้อีก 50 ปีจะหมด ดูตัวอย่างหนี้ IMF ที่เราใช้ได้เร็วกว่ากำหนด ทั้งนี้อยู่ที่ ใครสร้างเศรษฐกิจเป็น กับใครเป็นแต่ใช้จ่ายอย่างเดียว วิธีมองจึงต่างกันไปครับ"