"จากผลสำรวจเมื่อมองในภาพรวมถึงผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็น นักการเมือง, พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือรัฐบาล เมื่อรวมแล้วมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนก็พอที่จะมองออกว่าเป็นการแก้ในประเด็นที่เป็นประโยชน์แก่นักการเมืองบางกลุ่ม" นายบรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ นิด้า กล่าว
ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 31.55 มองการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลในขณะนี้ว่าเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน รองลงมาร้อยละ 20.53 ระบุว่าเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง, ร้อยละ 18.45 ระบุว่าเป็นการทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, ร้อยละ 15.42 ระบุว่าทำเพื่อประโยชน์ของรัฐบาล และร้อยละ 14.06 ไม่ทราบและไม่แน่ใจว่าเป็นการแก้ไขเพื่อใคร
ส่วนกรณีที่ประชาชนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 190 หรือ มาตรา 237 หรือมาตราอื่นๆ นั้นก็จะเป็นความคิดเห็นของคนที่ติดตามข่าว และต่างก็มีประเด็นในทางกฎหมายเอง แต่ก็ถือว่ามีสัดส่วนที่ไม่แตกต่างกันมากกับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเชื่อมโยงกับผลสำรวจในข้อแรกว่าเป็นการแก้ไขเพื่อนักการเมือง แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีความคิดเห็นอีกกลุ่มที่อยากให้แก้ไขทั้งฉบับ เพราะพิจารณาจากที่ไปที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 จึงอยากให้กลับไปพิจารณาไปใช้ฉบับปี 2540 แต่ท้ายที่สุดมองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราในครั้งนี้เป็นบันไดสำหรับการแก้ไขขั้นต้น เพื่อที่จะแก้ไขแบบทั้งฉบับ และอาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งในภายหลัง
ทั้งนี้ นิด้าโพลได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา" ช่วงวันที่ 4-5 เม.ย.ที่ผ่านมา จากลุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศทุกภูมิภาคจำนวน 1,252 หน่วยตัวอย่าง