นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ที่ให้ถ้อยคำคนแรกกล่าวเป็นภาษาฝรั่งเศส โดยการเกริ่นถึงเหตุผลการนำเรื่องมาสู่ศาลโลกอีกครั้ง สืบเนื่องจากตั้งแต่อดีตเมื่อมีการตัดสินกรณีปราสาทพระวิหารปี พ.ศ. 2505 จนถึงปัจจุบัน อ้างว่า คำพิพากษาที่ไม่ชัดเจนปี พ.ศ. 2505 ทำให้ไทยละเมิดผลคำพิพากษาเดิม
เมื่อปี พ.ศ. 2553 ไทยใช้กำลังทหารที่เหนือกว่าโจมตีกองทัพกัมพูชาที่มีกำลังและแสนยานุภาพต่ำกว่าจนได้รับความเสียหาย พร้อมกล่าวถึงในเชิงเสียดสีกัมพูชากรณีปราสาทพระวิหารมาตลอด และคัดค้านการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ นายฮอร์ นัมฮง ยังได้นำแผนที่ "Annex1" ที่เคยใช้ได้ผลในการขึ้นศาลปี พ.ศ. 2505 มาอ้างต่อศาลโลกอีกครั้ง
จากนั้นนายฌอง มาร์ค ซอเรล ทนายชาวฝรั่งเศสของฝ่ายกัมพูชาได้ให้ถ้อยคำเป็นคนที่ 2 ตามด้วย เซอร์ แฟรงคลิน เบอร์แมน ทนายชาวอังกฤษ ให้ถ้อยคำจบ โดยใจความสำคัญคือ ขอให้ศาลโลกจำเป็นต้องตีความคำพิพากษาเมื่อ พ.ศ. 2505
สำหรับ คำร้องของกัมพูชามีสาระสำคัญ 3 ข้อ คือ 1.ไทยและกัมพูชาตีความคำพิพากษาปี 2505 ไม่เหมือนกันในประเด็นว่าขอบเขตของบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร (Vicinity of the Temple) อยู่ที่ไหน จึงมีข้อพิพาทเรื่องการตีความ 2.ศาลโลกจะต้องตีความโดยยึด “แผนที่ภาคผนวก 1" (แผนที่ 1 : 200,000 ระวางดงรัก) เป็นหลัก 3.กัมพูชาเห็นว่าขอบเขตของบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารต้องเป็นไปตามเส้นที่ปรากฏในแผนที่
ส่วนไทยได้ตั้งประเด็นคัดค้านไว้เป็น 3 ข้อใหญ่เช่นกัน ประกอบด้วย 1.ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาและกัมพูชาไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากประเด็นที่กัมพูชาขอให้ศาลโลกพิจารณาไม่ใช่การตีความ แต่เป็นการฟ้องคดีใหม่เรื่องเขตแดน ซึ่งอยู่นอกขอบเขตของคดีเดิม 2.ไทยและกัมพูชาไม่มีข้อพิพาทในเรื่องการตีความคำพิพากษาเดิม เพราะกัมพูชาได้ยอมรับอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2505
3.กัมพูชาให้ศาลพิพากษาเรื่องเส้นเขตแดนไม่ได้ เพราะเมื่อปี 2505 ศาลไม่ได้ตัดสินว่าเส้นเขตแดนอยู่ที่ไหน และไม่ได้ตัดสินว่าแผนที่ภาคผนวก 1 มีสถานะทางกฎหมายอย่างไร
ทั้งนี้ การแถลงด้วยวาจาของไทยและกัมพูชาจะไปสิ้นสุดในวันที่ 19 เม.ย. และศาลโลกจะจัดคู่กรณีมาฟังคำพิพากษาในอีก 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของไทยประเมินในช่วงเดือน ก.ย. จะมีคำพิพากษาออกมา