นายสุรพงษ์ กล่าวภายหลังจากรับฟังถ้อยแถลงในช่วงแรกของฝ่ายกัมพูชา ว่า นายฮอร์ นัมฮง ได้พยายามชี้แจงต่อศาลฯ ยืนยันว่ามีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างไทยกับกัมพูชาเกี่ยวกับขอบเขตและความหมายของคำพิพากษาปี 2505 และการที่ไทยไม่ปฏิบัติตาม คำพิพากษาฯ ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ปะทะทางอาวุธบริเวณชายแดนในสมัยรัฐบาลที่แล้ว ทำให้กัมพูชาต้องขอให้ ศาลโลกตีความคำพิพากษาฯ ให้ชัดเจน ส่วนคณะที่ปรึกษากฏหมายชาวต่างชาติของกัมพูชาได้พยายามเสนอข้อมูลหักล้างเหตุผลและหลักฐานในคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรที่ไทยได้ยื่นต่อศาลฯ ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ไม่รู้สึกหนักใจ เพราะประเด็นต่างๆ ที่กัมพูชาได้นำเสนอเป็นไปตามความคาดหมายของฝ่ายไทย ไม่มีประเด็นใหม่ ซึ่งคณะทำงานของไทยมีความพร้อมโดย ได้เตรียมข้อมูลตอบโต้ไว้แล้ว ทั้งนี้ กระบวนการชี้แจงโดยวาจาเพิ่งเริ่มต้นขึ้น และไทยมีกำหนดจะชี้แจงท่าทีของไทยต่อศาลฯ ในวันที่ 17 เมษายน 2556
การทางวาจารอบแรกของฝ่ายกัมพูชา สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. กัมพูชาได้นำเสนอข้อโต้แย้งและประเด็นหักล้างคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรของฝ่ายไทย โดยพยายามอธิบายว่ากัมพูชามิได้ขออุทธรณ์คดีฯ หรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาปี 2505 เพียงแต่ต้องการให้ศาลฯ ชี้ให้ชัดเจนว่าขอบเขตดินแดนของกัมพูชา และบริเวณใกล้เคียงปราสาทที่ระบุในคำพิพากษาฯ คืออะไร
2. กัมพูชาพยายามแสดงให้ศาลฯ เห็นว่ากัมพูชาและไทยมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับคำพิพากษาฯ และได้อธิบายว่า “แผนที่ภาคผนวก 1" เป็นส่วนของเหตุผลสำคัญที่ไม่อาจแยก (inseparable) จากคำพิพากษาเดิมได้ ดังนั้น คำขอของกัมพูชาจึงเข้าเงื่อนไขของการขอให้ศาลฯ ตีความคำพิพากษา
3. การตีความดังกล่าวจะทำไม่ได้หากไม่อ้างอิง “แผนที่ภาคผนวก 1" แนบท้าย คำฟ้องของกัมพูชาในคดีเดิม ซึ่งกัมพูชาเห็นว่าศาลฯ ได้ยอมรับแล้วว่าเส้นบนแผนที่ดังกล่าวเป็นเส้นเขตแดนระหว่างกัมพูชากับไทย
การให้การทางวาจาของฝ่ายกัมพูชาข้างต้น เป็นไปตามที่ปรากฏในคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรของฝ่ายกัมพูชาที่ได้ยื่นต่อศาลฯ ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งไทยมีความพร้อมที่จะหักล้าง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฯ เมื่อปี 2505 ที่ไทยได้ปฏิบัติตามอย่างครบถ้วนแล้ว
ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กัมพูชาพยายามแสดงให้ศาลฯ เชื่อว่าการปฏิบัติตามคำพิพากษาของฝ่ายไทยเมื่อปี 2505 เป็นการตีความคำพิพากษาตามความเข้าใจของไทยฝ่ายเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการล้อมรั้วลวดหนามรอบปราสาทพระวิหารตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 ซึ่งกัมพูชาไม่ยอมรับ อย่างไรก็ตาม ไทยจะนำเสนอข้อมูลและเหตุผลซึ่งมีความชัดเจนและมีน้ำหนัก ในวันที่ 17 เมษายน 2556 ต่อไป