อย่างไรก็ตาม คณะดำเนินด้านกฎหมายต่อสู้คดีของไทย ได้มี 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ศาลโลกไม่มีอำนาจพิจารณา 2.กัมพูชาไม่มีสิทธิยื่นศาลเพื่อขอตีความคำตัดสินคดีเดิมในรูปแบบการอุทธรณ์ 3.ไทยปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกครบถ้วน และ 4.คำตัดสินเมื่อปี 2505 ศาลได้กล่าวถึงอธิปไตยเหนือตัวปราสาทพระวิหาร โดยไม่ได้ระบุถึงเส้นเขตแดน
ทั้งนี้ การชี้แจงของฝ่ายไทยในวันที่ 17 เม.ย. มั่นใจว่า 4 ยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะสามารถหักล้างข้อโต้แย้งฝ่ายกัมพูชาได้ อีกทั้ง ไทยมีหลักฐานพร้อมยืนยันชัดเจน รวมทั้งมีข้อมูลว่าเหตุใด 50 ปีที่ผ่านมา กัมพูชาไม่เคยท้วงติง แต่ปัจจุบันยื่นเรื่องร้องต่อศาลโลกให้ตีความเพราะต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งมีพื้นที่อนุรักษ์กินเข้ามาในดินแดนไทยจำนวนมาก รวมถึงพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.
"ไทยจะชี้ให้ศาลเห็นว่าการประชุมมรดกโลก ณ เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ยูเนสโกได้เลื่อนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ออกไป 1 ปี และรับพิจารณาขึ้นทะเบียนปราสาทให้กัมพูชา ในการประชุมที่แคนาดา โดยมีขอบเขตพื้นที่มรดกโลกเล็กลง"นายไกรรวี กล่าว