"การพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นและตัวกลางจากประเทศมาเลเซียในวันที่ 29 เมษายนนี้ยังเดินหน้าต่อไป...ผมจะลงพื้นที่ภาคใต้อีก โดยจะไปที่ จ.นราธิวาส จ.สงขลา และ จ.สตูล" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ส่วนการเดินทางลงไปตรวจเยี่ยมในพื้นที่ดังกล่าวช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์นั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า จากการรับฟังปัญหาจากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่แล้วจะนำข้อมูลมาหารือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อหาข้อยุติว่า อำนาจสั่งการพื้นที่ควรจะเป็นอำนาจของใคร ซึ่งหลังจากตนเองลงพื้นที่ได้รับการร้องเรียนเรื่องสภาพในพื้นที่ที่ต้องแก้ไข ทั้งเรื่องถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ คอสะพานต่างๆ ที่ชำรุด และสภาพพื้นที่ป่าหญ้ารกข้างทางที่เอื้อต่อการก่อเหตุระเบิดได้ โดยจะนำปัญหานี้หารือกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) หน่วยข่าวกรองแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) เพื่อเร่งปรับปรุงสภาพพื้นที่ จากนั้นจะรายงานต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อสั่งการไปยังกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย ที่มีหน้าที่โดยตรงเพื่อทำงานแบบบูรณาการ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า การใช้อำนาจในพื้นที่ยังไม่มีความเป็นเอกภาพ ฝ่ายราชการหลายส่วนยังขาดความเข้าใจปัญหาในพื้นที่ ซึ่งตนเองไม่ได้มีอำนาจสั่งการอย่างเต็มที่ ต่างจากอำนาจที่ดูแลปราบปรามยาเสพติด การเป็นรองนายกรัฐมนตรีจึงไม่ได้มีความหมาย เนื่องจากเรื่องนี้อำนาจสูงสุดอยู่ที่นายกรัฐมนตรี
"ตำรวจเขาก็ไม่กล้าพูดกับผู้ว่าฯ ตำรวจไม่กล้าพูดกับคมนาคม ผมพูดเขาจะเชื่อหรือป่าวก็ไม่รู้ ถ้าไม่รู้จะรายงานนายกรัฐมนตรี..ฝ่ายราชการก็ให้ความร่วมมือเหมือนกัน แต่ขาดความเข้าใจบางส่วน" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
นอกจากนี้ ตนเองได้สั่งให้มีการตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์สำหรับประชาชนในพื้นที่ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่โดนหมายจับพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ และเตรียมยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หากพื้นที่นั้นสามารถพิสูจน์ได้ว่าสงบแล้วจริงๆ ตามที่ประชาชนร้องขอ ส่วนปัญหาการตัดท่อน้ำเลี้ยงผู้สนับสนุนการก่อเหตุนั้นตนเองใช้วิธีการเดินหน้าอายัดบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่า บางรายยังไม่สามารถเข้าถึงได้