"ถือว่าที่ประชุมมีมติแปรญัตติ 15 วัน สิ้นสุดวันที่ 19 เม.ย."นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.50 น. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้เป็นประธานการประชุมโดยช่วงแรกได้เปิดให้สมาชิกหารือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ก่อนที่จะมีการลงมติเกี่ยวกับกรอบเวลาในการแปรญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ก่อนหน้านี้ฝ่ายค้านเรียกร้องให้เพิ่มวันแปรญัตติใหม่เป็น 60 วัน จากเดิมที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอไว้ 15 วัน จึงทำให้เกิดการประท้วงจากส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากมีการประชุมกรรมาธิการและมีการรับเบี้ยประชุมกรรมาธิการไปแล้ว ซึ่งไม่สามารถกลับมาลงมติใหม่ไม่ได้ ถือว่าเป็นการทำผิดข้อบังคับและอาจขัดรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้นายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายเรียกร้องให้เปิดประชุมเพื่อลงมติใหม่ แต่กลับมีการท้วงติงว่าตนทำขัดต่อรัฐธรรมนูญ และอาจจะยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง ซึ่งนายสมศักดิ์ ได้ตัดพ้อว่าทำอะไรก็ผิดไปหมด แต่ยืนยันว่าที่ผ่านมาได้ทำตามข้อบังคับและรัฐธรรมนูญทุกประการ
จากนั้นส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นประท้วงกันไปมา ทำให้ประธานรัฐสภาพยายามรวบรัดเพื่อลงมติ กรอบเวลาวันแปรญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่ส.ส.ฝ่ายค้านไม่ยอมและลุกขึ้นยืนประท้วงทั้งหมด รวมถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน โดยนายอภิสิทธิ์ ได้อภิปรายชี้แจงเหตุการณ์ในการประชุมวันที่ 4 เม.ย.ว่า ก่อนปิดการประชุมในวันดังกล่าว ประธานรัฐสภาได้รวบรัดตั้งกรรมาธิการแปรญัตติภายใน 15 วัน ทั้งที่องค์ประชุมไม่ครบซึ่งขัดต่อข้อบังคับ ดังนั้นจึงให้คำแนะนำโดยขอให้เรียกประชุมรัฐสภาอีกครั้งเพื่อลงมติใหม่ ซึ่งหากประธานรัฐสภานัดประชุมร่วมหลังจากวันนั้นก็จะไม่เกิดปัญหา แต่ในบันทึกในสภาฯ กลับระบุว่าองค์ประชุมไม่ครบ แต่ยังให้เดินหน้าแปรญัตติภายใน 15 วัน จึงถือว่าการกระทำของประธานรัฐสภาขัดข้อบังคับ เพราะเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต
ด้านนายสมศักดิ์ ชี้แจงว่าได้นำข้อบังคับข้อ 96 มายืนยันว่าหากสมาชิกรัฐสภาไม่เห็นเป็นอื่น ก็ให้ยึดกรอบแปรญัตติภายใน 15 วัน จากนั้นประธานรัฐสภาได้ขอให้สมาชิกลงมติทันที ขณะฝ่ายค้านวอล์คเอ้าท์เดินออกจากห้องประชุม ซึ่งผลการลงมติปรากฎว่าสมาชิกรัฐสภาเห็นด้วยให้แปรญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน ด้วยคะแนน 356 ต่อ 19 เสียง งดออกเสียง 33 เสียง ซึ่งหลังลงมติแล้วประธานได้สั่งปิดการประชุมทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บริเวณโดยรอบอาคารรัฐสภามีกำลังตำรวจจำนวนหนึ่งมาคอยดูแลความปลอดภัย เนื่องจากก่อนหน้านี้มีความกังวลว่าจะเกิดความวุ่นวายหากมีการเสนอให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณา