ทั้งนี้ กลุ่ม ส.ส.และ ส.ว.ดังกล่าวเตรียมยื่นหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อโต้แย้งกรณีที่ศาลรับคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ที่ขอให้วินิจฉัยว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในมาตรา 68 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ โดยกล่าวอ้างว่าสมาชิกรัฐสภาเห็นร่วมกันในเหตุผล 5 ข้อ คือ 1.ศาลรัฐธรรมนูญต้องผูกพันและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับศาลและองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ โดยการรับคำร้องให้ตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีรัฐธรรมนูญบทบัญญัติใดรองรับการกระทำไว้
2.กรณีที่ศาลฯ จะรับคำร้องไว้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 จำเป็นต้องผ่านในชั้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงของอัยการสูงสุดก่อน ตามมาตรา 68 วรรคสอง ส่วนการวินิจฉัยที่ออกมาหลังพิจารณาตามการเสนอของอัยการสูงสุดแล้ว ศาลฯ มีอำนาจดำเนินการเพียง 2 กรณี คือ สั่งห้ามการกระทำและสั่งยุบพรรคการเมือง
3.การรับคำร้องของศาลฯ ตามมาตรา 68 ไม่ถือเป็นมาตรฐานที่ก่อให้เกิดการยอมรับและนำไปปฏิบัติตามได้ เพราะในการพิจารณาคำร้องไม่ได้เร่งรัดในห้วงเวลาที่เท่ากัน เช่น การชุมนุมของกลุ่ม พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ แกนนำกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม ที่ระบุชัดเจนว่าจะแช่แข็งประเทศไทยที่สรุปไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ทั้งที่เห็นว่าการกระทำขัดมาตรา 68 ชัดเจน
4.กรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนลงมติรับคำร้อง ทั้งที่มีส่วนได้เสียกับรัฐธรรมนูญปี 50 เพราะเคยเป็นอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ถือเป็นการทำหน้าที่ที่ขัดหลักจริยธรรมตุลาการ และ 5.การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเป็นอำนาจของรัฐสภา โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เป็นการแก้ไขเพื่อให้เกิดความชัดเจนในกรอบ ขั้นตอน และสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
นายดิเรก กล่าวว่า ตามหนังสือที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ประธานรัฐสภา และรองประธานรัฐสภา ได้ลงนามร่วมกับสมาชิกรัฐสภาจำนวนมาก ทั้งนี้จะมีการรวบรวมเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ทั้งนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะยื่นเรื่องดังกล่าวเมื่อใด