ทั้งนี้จะเห็นว่าเมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลหยิบยกกฎหมายในลักษณะนี้ขึ้นมาพิจารณาในสภาฯ จะนำมาซึ่งความแตกแยกขัดแย้งทั้งในสภาและนอกสภา รวมทั้งมีการเคลื่อนไหวของมวลชนภายนอกที่คัดค้านต่อต้านกฎหมายในลักษณะนี้ ความพยายามของรัฐบาลที่จะเลื่อนวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขึ้นมาเร็วขึ้นแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในส่วนอื่นที่มีความเร่งด่วนกว่า มุ่งแต่ตอบสนองความต้องการของพรรคพวก
"การหยิบยกกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาก็ขัดกับหลักการของรัฐบาลเองที่ต้องการจะสร้างความสามัคคีปรองดอง เพียงแค่หยิบยกวาระนี้ขึ้นมารอ ก็เกิดความเคลื่อนไหวในสังคมแล้ว...การหยิบกฎหมายนี้ขึ้นมาเสมือนกับการเติมเชื้อไฟ เอาระเบิดเวลาอีกลูกฝังในรัฐสภา บ้านเมืองยังวุ่นไม่พออีกหรือ" นายสาทิตย์ กล่าว
ส่วนเหตุผลประการที่ 2 ที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนี้ เพราะเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหา หลักการ และเหตุผลที่ล้มล้างหลักนิติรัฐและนิติธรรม โดยมองว่ารัฐบาลควรจะมีกระบวนการสานเสวนาให้จบก่อน แล้วจึงค่อยเสนอกฎหมายนี้เข้าสู่สภาฯ ทั้งนี้ยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมหลายฉบับ รวม 24 ฉบับ แต่ทุกฉบับมีหลักการนิรโทษกรรมเฉพาะความผิดทางการเมืองเท่านั้น ไม่รวมความผิดทางอาญา ขณะที่ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้มีการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำผิดทางอาญาด้วย ซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้องและขัดกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม
"ตัวกฎหมายฉบับนี้ที่เขียนเอาไว้ นิรโทษให้ทั้งหมด ถ้าเฉพาะคดีความผิดทางการเมือง เช่น ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นหลักการตรงกันไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่ท่านเขียนกำลังนิรโทษให้กับความผิดทางอาญาอื่น เช่น กรณียิงวัดพระแก้ว กรณีเผาศาลากลางจังหวัด 4 แห่ง นี่ไม่ใช่เป็นการทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรมของบ้านเมืองหรือ และการเขียนแบบนี้ก็ตีความได้ว่ากระทั่งผู้กระทำความผิดตาม มาตรา 112 กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ท่านเอากฎหมายฉบับนี้ไปนิรโทษกรรมให้ด้วย อย่างนี้ไม่เรียกว่าทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติเองแล้วจะเรียกว่าอะไร" นายสาทิตย์ กล่าว
ดังนั้นจากเหตุผลทั้ง 2 ประการจึงไม่มีเหตุผลที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนให้มีการเลื่อน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขึ้นมาพิจารณา เพราะจะยิ่งทำให้บ้านเมืองวุ่นวายและมีความขัดแย้งแตกแยกมากขึ้น โดยขอให้สภาฯ คงกฎหมายฉบับดังกล่าวไว้ในวาระเดิมก่อน