เอแบคโพลล์เผยคนไทยส่วนใหญ่หวั่นกรณีพิพาทปราสาทพระวิหารนำไปสู่สงคราม

ข่าวการเมือง Saturday April 20, 2013 10:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เอแบคโพลล์ เผยประชาชนส่วนใหญ่มีความกังวลต่อกรณีพิพาทปราสาทพระวิหารระหว่างไทย-กัมพูชาจะนำไปสู่การทำสงครามของสองประเทศ และสนับสนุนให้ใช้แนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยสันติวิธีโดยการเจรจา
"ความกังวลว่ากรณีพิพาทนี้จะนำไปสู่สงครามระหว่างไทย-กัมพูชา พบว่าตัวอย่างเกือบครึ่งหรือร้อยละ 47.4 กังวลมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 27.6 กังวลน้อยถึงไม่กังวลเลย โดยมีร้อยละ 25.0 กังวลปานกลาง อย่างไรก็ดีพบว่าตัวอย่างสูงถึงร้อยละ 95.2 สนับสนุนให้ใช้การเจรจาโดยสันติวิธีเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา โดยมีเพียงร้อยละ 4.8 สนับสนุนให้ใช้กำลังทหาร" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความกังวลถึงปัญหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชากรณีพิพาทปราสาทพระวิหารว่าจะส่งผลกระทบต่อการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน

"ตัวอย่างร้อยละ 47.6 รู้สึกกังวลต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาในอนาคต ขณะที่ร้อยละ 52.4 ไม่รู้สึกกังวล เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อการส่งผลกระทบต่อการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนจากกรณีพิพาทดังกล่าว พบว่าตัวอย่างเกือบ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 61.1 คิดว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน ในขณะที่ร้อยละ 38.9 คิดว่าส่งผล" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ส่วนความรู้สึกที่มีต่อชาวกัมพูชาในปัจจุบัน พบว่าตัวอย่างร้อยละ 24.3 ระบุรู้สึกดี ร้อยละ 42.0 ระบุรู้สึกเฉยๆ ในขณะที่ร้อยละ 33.7 ระบุรู้สึกแย่

"แม้กรณีพิพาทประสาทพระวิหารจะเป็นเรื่องตึงเครียดของทั้งสองประเทศ แต่คนไทยเองก็ยังอยากรักษามิตรกับประเทศนี้ไว้ และหนุนแนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหา ทั้งนี้จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มเป้าหมายผู้ถูกศึกษา ยังพบว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อาทิ การค้าชายแดน แรงงาน และการลงทุนในกัมพูชา แม้จะมีระดับความสำคัญไม่เทียบเท่ากับอธิปไตยเหนือดินแดน แต่ก็ถือว่ามีความสำคัญมากที่จะยอมสูญเสียไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นจึงไม่อยากให้เกิดเหตุบานปลายจนกระทบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว และหวังว่ารัฐบาลของทั้งสองประเทศจะมีแนวทางออกในการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์เพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของชาติร่วมกันต่อไป" นายสุริยัน บุญแท้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าว

ทั้งนี้ เอแบคโพลล์ได้ทำวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง ความกังวลของประชาชนต่อความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ท่ามกลางกรณีพิพาทประสาทพระวิหาร จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนใน 17 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 2,232 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-19 เมษายนที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ