จากการสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือร้อยละ 61.3 มีความเชื่อมั่นต่อคณะผู้แทนไทยต่อการแถลงการณ์กรณีปราสาทพระวิหารในครั้งนี้ ในขณะที่ร้อยละ 33.1 รู้สึกเฉยๆ และร้อยละ 5.6 ระบุไม่เชื่อมั่น
ที่น่าสนใจคือเมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจต่อการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายการทูตและฝ่ายการเมือง ในกรณีปราสาทพระวิหารนี้ พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนมากหรือร้อยละ 65.6 ระบุ มีความพึงพอใจในเจ้าหน้าที่ฝ่ายการทูต อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามความพึงพอใจต่อฝ่ายการเมืองนั้นพบว่า น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง คือร้อยละ 42.6 มีความพึงพอใจต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายการเมือง
สิ่งที่น่าเป็นห่วงพบว่า ตัวอย่างประชาชนที่ถูกศึกษาจำนวนมาก หรือร้อยละ 80.0 รู้สึกผิดหวังมาก-มากที่สุด หากประเทศไทยจะต้องเสียพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารให้กับประเทศกัมพูชา ในขณะที่ ร้อยละ 13.4 ระบุปานกลาง และร้อยละ 6.6 ระบุรู้สึกผิดหวังน้อย-น้อยที่สุด
ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มตัวอย่างประมาณกึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 49.7 รู้สึกผิดหวังต่อฝ่ายการเมืองที่ยังคงมีการออกมาโจมตีกันไปมาให้ประชาชนเห็นตามหน้าสื่อต่างๆ โดยกลุ่มตัวอย่างให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า เนื่องจากเป็นตัวแทนของประชาชนทั่วทั้งประเทศแล้วก็ควรแสดงความเป็นผู้นำที่เสียสละ ควรหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมกันคิดหาแนวทางการแก้ไขปัญหา สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ
"ประชาชนยังคงมีความรู้สึกผิดหวังต่อฝ่ายการเมืองที่ยังคงมีการออกมาโจมตีกันไปมาแทนที่จะหันหน้าเข้าหากันเพื่อหาแนวทางร่วมในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าประชาชนโดยส่วนใหญ่ยังคงมีความหวังและมีความเชื่อมั่นต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายการเมืองว่า ในที่สุดแล้วนักการเมืองคงจะไม่นึกถึงแต่ประโยชน์ของพวกพ้องตนเองเท่านั้น แต่จะต้องนึกถึงประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติเป็นหลัก และอยากเห็นการนำเสนอข่าวผลการดำเนินงานที่โปร่งใส ไม่แต่งเติมสีจากฝ่ายการเมือง เหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่นับวันมีแต่จะสร้างความหดหู่ให้แก่ประชาชน"นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์กล่าว
เอแบคโพลล์ ทำการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวจากกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรปราการ อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงราย มุกดาหาร หนองคาย สกลนคร เลย ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ยะลา นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,165 ตัวอย่างระหว่างวันที่ 15-20 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7