อย่างไรก็ตาม ทางพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่สามารถมั่นใจและไว้วางใจรัฐบาลในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยได้ เพราะจากการได้ฟังการแถลงของประเทศกัมพูชาในศาลโลก ประเทศกัมพูชาพูดชัดเจนว่า รัฐาลพรรคไทยรักไทยเป็นผู้ยินยอมให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว และในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ได้มีแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) ที่นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลงนามกับ นายซก อัน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเนสโกลงนามเป็นพยานเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551 (ค.ศ.2008) อันเป็นผลมาจากการประชุมหารือเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 มีเนื้อหายินยอมให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป้นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว อีกทั้งยังไม่ได้ให้ความสนใจกับแผนที่แนบท้ายภาคผนวก1 (แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000) ซึ่งเสมือนเป็นการสละแนวสันปันน้ำซึ่งเป็นแนวเขตแดนที่ประเทศไทยใช้อ้างมาโดยตลอดโดยปริยาย
นอกจากนี้ สมัยที่นายนพดลดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ได้เคยย้ายนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ หัวหน้าทีมทนายไทย จากตำแหน่งอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายในสมัยนั้น ไปแขวนอยู่ตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงเนื่องจากนายวีรชัย คัดค้านการลงนามในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว
นายชวนนท์ กล่าวต่อว่า ขอเรียกร้องให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความชัดเจนว่าประเทศไทยจะส่งตัวแทนเพื่อคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่ประเทศกัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพในเดือนมิถุนายนนี้ เพราะการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชาอาจส่งผลต่อคำพิพากษาของศาลโลกในปลายปีนี้