กมธ.กู้เงิน เชิญหน่วยงานคลัง แจงความจำเป็นลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หนุนเพิ่มขีดความสามารถปท.

ข่าวการเมือง Tuesday April 23, 2013 17:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ....วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธาน ได้เชิญตัวแทนจากสำนักงบประมาณ(สงป.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สนร.) เข้าชี้แจงข้อซักถามของกรรมาธิการฯ

โดยนายกฤษฎา จินะวิจารณะ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สศค. ชี้แจงข้อซักถามของนายวิทูรย์ นามบุตร กรรมาธิการในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ถึงความจำเป็นในการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ว่า สศค.เห็นด้วยกับการลงทุนในโครงการดังกล่าว เพราะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ หลังจากไทยไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะปานกลางมานานแล้ว จนไทยถูกจัดอันดับที่ 38 ในการลงทุนในธนาคารโลก ซึ่งต่ำกว่าสิงคโปร์และมาเลเชีย โดยการดำเนินการจะคำนึงถึงการรักษาวินัยการเงินการคลัง เพื่อความยั่งยืนทางการเงินการคลัง จึงกำหนดไม่ให้มีความเสี่ยงมากเกินไปในเรื่องของวงเงิน ที่ตอนแรกตั้งไว้ที่ 4 ล้านล้านบาท เหลือเพียง 2 ล้านล้านบาท หรือไม่เกินร้อยละ 50 เพื่อรองรับเศรษฐกิจโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง

นายวีระยุทธ ปั้นน่วม รองผู้อำนวยการ สงป.ชี้แจงข้อซักถามของนายกรณ์ จาติกวณิช กรรมาธิการในสัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ กรณีข้อจำกัดในการใช้งบประมาณจากเงินกู้ 2 ล้านล้าน ว่า ตามปกติการดำเนินการหลายโครงการจะทำตามกระบวนการของงบประมาณแผ่นดิน แต่เมื่องบประมาณจากการกู้เงินครั้งนี้มีจำนวนสูงถึง 2 ล้านล้านบาท คณะรัฐมนตรีจึงมีมติกำหนดงบประมาณผูกพันข้ามปีเอาไว้ ตามสัดส่วนร้อยละ 60 ในปีแรก, ร้อยละ 40 ในปีที่ 2, ร้อยละ 20 ในปีที่ 3 และร้อยละ10 ในปีที่ 4 ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับรัฐบาลต่อไปที่จะเข้ามาบริหาร

นายวีระยุทธ ยังกล่าวถึงเหตุผลที่การลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมต้องใช้งบประมาณจากการกู้เงินว่า เพื่อความต่อเนื่องของการเดินหน้าโครงการ เนื่องจากหากกำหนดให้ใช้งบประมาณตามแผนปกติอาจเกิดการสะดุด หรือหยุดดำเนินการไปหากเปลี่ยนรัฐบาล แต่เมื่อเป็นเงินกู้โครงการก็จะเดินต่อเนื่องและสามารถเริ่มดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอเริ่มตามงบประมาณแต่ละปี นอกจากนี้การจัดงบประมาณแผ่นดินแต่ละปี ตัวเลขงบประมาณมีความจำกัด อีกทั้งต้องดูหลายเรื่องประกอบกันในการจัดสรร อาทิ การศึกษา ความมั่นคง และสาธารณสุข ซึ่งหากจัดสรรงบประมาณลงไปที่การคมนาคมอย่างเดียว งบประมาณในส่วนอื่นก็จะถูกปรับลดหรือหายไป ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการขาดความสมดุล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ