ทั้งนี้ นายก่อแก้ว ได้อ้างเหตุผลในคำร้องว่า ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราว เพราะยังมีข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนหลายประการ เช่น แม้ศาลชั้นต้นจะมองว่าการปราศรัยเกี่ยวกับกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยคำร้อง มาตรา 68 เป็นการผิดเงื่อนไขของศาล แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าบ้านเมืองจะเกิดความวุ่นวาย หรือประชาชนไปละเมิดกฎหมายอันเนื่องจากการปราศรัยแต่อย่างใด และถือเป็นการปราศรัยในฐานะ ส.ส.มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ตามสิทธิและเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ และการปราศรัยก็เป็นไปในเชิงวิชาการ จึงยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดตามเงื่อนไขของศาลอาญา
การที่ศาลจะมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวนั้น ตามกฎหมายป.วิอาญาได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่ศาลต้องวินิจฉัย คือ 1.มีพฤติการณ์หลบหนี 2.ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน 3.ก่อเหตุอันตรายประการอื่น 4 .ผู้ร้องขอประกันไม่น่าเชื่อถือ และ 5.หากปล่อยตัวไปจะกระทบต่อการสอบสวน
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริง ปรากฏว่านายก่อแก้ว ไม่มีพฤติการณ์ตามข้อต้องห้าม ดังนั้นจึงเห็นว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตการปล่อยชั่วคราวจึงมิชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.วิอาญาดังกล่าว
นอกจากนี้ยังปรากฏคำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีที่กองทุนธุรกิจกับพวกยื่นฟ้องบริษัทเทเวศประกันภัย จากกรณีเหตุไฟไหม้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการก่อการร้าย ดังนั้นจึงขอศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ความเป็นธรรม ซึ่งในเบื้องต้นศาลได้รับคำร้องไว้เพื่อส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาต่อไป