นอกจากนั้น อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายในปี 51 ยังแนะนำว่าแถลงการณ์ร่วมไม่เข้าข่ายมาตรา 190 เพราะไม่เป็นหนังสือสัญญาและไม่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต แต่ศาลรัฐธรรมนูญไปเติมคำว่า "อาจ" เข้าไปในมาตรา 190 และตัดสินว่าแม้คำแถลงการณ์ร่วมไม่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต แต่"อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต" ซึ่งถือว่าตัดสินเกินรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้วุฒิสภาเคยลงมติไม่ถอดถอนตน และอัยการสั่งไม่ฟ้องตนแล้ว เพราะเห็นว่าตนไม่ได้กระทำความผิด แต่ ป.ป.ช.ยังอยากจะฟ้องเองโดยตั้งทนายฟ้อง และการบรรยายฟ้องก็เต็มไปด้วยความเท็จและเป็นการใส่ร้าย
นายนพดล กล่าวย้ำว่า คำแถลงการณ์ร่วมที่ทำไปได้กระทำเพื่อปกป้องดินแดนพี้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ทำร่วมกับเพื่อนข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ, สภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งนายวีระชัย พลาศรัย ก็ยืนยันว่ากัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทและไม่รุกล้ำแนวเขตแดนตามมติ ครม. ดังนั้นแนวทางของแถลงการณ์ร่วมจึงเป็นการปกป้องดินแดนพื้นที่ทับซ้อน
นอกจากนี้ คณะทนายที่ต่อสู้คดีในศาลโลกก็เห็นว่าคำแถลงการณ์ร่วมเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทยและต้องการใช้ยื่นเพื่อต่อสู้คดี แต่ศาลปกครองได้ตัดสินให้แถลงการณ์ร่วมเป็นโมฆะไปแล้วจึงไม่สามารถใช้อ้างอิงได้
"ผมพร้อมที่จะไปต่อสู้คดีในศาลเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ เพราะผมปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ และทำไปเพราะมีเจตนาปกป้องดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตร และหวังว่าศาลจะให้ความยุติธรรม" นายนพดล ระบุ