"ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ทำให้ไทยเสียหน้า เป็นเรื่องปกติ แต่ในการหารือวานนี้ทางกลุ่ม BRN ก็ได้หยิบยกข้อเสนอทั้ง 5 ข้อมาในที่ประชุมด้วย ซึ่งไทยจะได้มีการพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของ BRN ต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของไทย"พล.ท.ภราดร กล่าวถึงการที่กลุ่ม BRN นำข้อเสนอทั้ง 5 ไปเผยแพร่ในอินเตอร์เนตก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุม
อนึ่ง ข้อเสนอทั้ง 5 ประกอบด้วย 1.ต้องยอมรับบทบาทของรัฐบาลมาเลเซียในฐานะ"ตัวกลาง"การพูดคุย 2.การพูดคุยต้องจำกัดวงเฉพาะตัวแทนชาวมลายูนำโดยกลุ่ม BRN กับฝ่ายไทย 3.ให้กลุ่มผู้สังเกตการณ์จากอาเซียน องค์การความร่วมมือแห่งศาสนาอิสลาม(โอไอซี) และองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมด้วย 4.ต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาก่อความไม่สงบอย่างไม่มีเงื่อนไขและระงับการออกหมายจับ 5.ยอมรับสถานะของกลุ่ม BRN ในฐานะองค์กรเพื่อการปลดปล่อยปัตตานีมิใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน
สำหรับกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตุว่าไทยตกเป็นรองในการเจรจาแต่ละครั้งนั้น พล.ท.ภราดร ยืนยันว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังเป็นเรื่องของการพูดคุย ที่ผ่านมาทางไทยมั่นคงในข้อเสนอ โดยยึดหลักการลดความรุนแรงในพื้นที่ ส่วน BRN จะมีข้อเสนออย่างไร ฝ่ายไทยพร้อมรับฟัง และหารือกับหน่วยงานความมั่นคงของไทย
พล.ท.ภราดร กล่าวอีกว่า ไม่กังวลว่าปัญหาความรุนแรงในภาคใต้จะมีการยกระดับขึ้นมา เพราะต่างฝ่ายต่างยอมรับในข้อตกลงว่าจะพยายามลดความรุนแรงในพื้นที่ แต่ทางเราได้ส่งสัญณาณให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้มงวดการปฎิบัติการ ไม่ประมาท และคอยจับตาความผิดปกติในพื้นที่ รวมถึงขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่
"ยินดีเปิดโต๊ะเจรจากับทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะกับกลุ่ม BRN เพราะอยากจะพูดคุยกับทุกกลุ่มที่มีความเห็นแตกต่าง" พล.ท.ภราดร กล่าว