"ณัฐวุฒิ"ชี้ปาฐกถานายกฯ ที่มองโกเลียสะท้อนภาพการเมืองไทย วอนทุกฝ่ายลดขัดแย้ง ฟื้นเชื่อมั่น

ข่าวการเมือง Tuesday April 30, 2013 11:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ในฐานะแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) กล่าวถึงการปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีในระหว่างการประชุมประชาคมประชาธิปไตย ที่ประเทศมองโกเลียว่า เป็นการปาฐกถาที่สรุปข้อเท็จจริงทางการเมืองไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณบอกถึงอีกฝ่ายให้หันมาพิจารณาข้อเท็จจริงว่าสาเหตุของการขัดแย้งเกิดจากอะไร

ทั้งนี้ฝากไปถึงองค์กรอิสระว่าประเทศไทยไม่ได้อยู่เพียงลำพังในเวทีโลก แต่ประเทศไทยอยู่ในระบบสังคมที่ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ได้รับการยอมรับสูงสุด ดังนั้นการที่เรามีปัญหาทางประชาธิปไตยก็เท่ากับว่าความน่าเชื่อถือของประเทศได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งสิ่งที่นายกรัฐมนตรีดำเนินการมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา คือการพาประเทศฝ่าวิกฤติความขัดแย้ง สร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง เพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือในสายตาของนานาชาติ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปปัตย์ ยังก้าวไม่พ้นกรอบความคิดของตัวเองที่นึกถึงแต่ผลประโยชน์ทางการเมือง พยายามวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีว่าไม่ได้พูดถึงคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และกล่าวหาว่านั่นเป็นการพูดเพื่อจะช่วยเหลือพี่ชายตัวเอง ทั้งนี้ตนมองว่านายอภิสิทธิ์ น่าจะเปิดความคิดให้กว้างกว่านี้ โดยเรื่องของพ.ต.ท.ทักษิณนั้น ทั้งโลกทราบดี และทุกคนเข้าใจถึงข้อเท็จจริง เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไปประเทศใดก็ตามจึงได้รับการต้อนรับอย่างดี

"อาจเรียกได้ว่าเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ได้รับการต้อนรับจากมิตรประเทศในระดับผู้นำมากที่สุดเท่าที่เคยมีนายกรัฐมนตรีมา เนื่องจากชาวโลกรู้ดีว่าคุณทักษิณ คือ นายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหาร ซึ่งต่างกับนายกรัฐมนตรีที่สั่งการให้ทหารทำร้ายประชาชนจนได้รับบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก แบบคุณอภิสิทธิ์" นายณัฐวุฒิ กล่าว

พร้อมเชื่อว่า การที่นายกรัฐมนตรีได้ไปสื่อสารกับเวทีโลกนั้น ทำให้นานาชาติจะมองไทยในแบบที่ใกล้ชิดมากขึ้น และเอาใจช่วยให้ประเทศไทยกลับมาปรองดองกันได้จากการร่วมมือจากทุกภาคส่วน แต่หากว่ายังมีคนบางกลุ่ม โดยเป็นกลุ่มที่ปฎิเสธการเลือกตั้ง ทำลายความชอบธรรมในอำนาจอธิปไตยของประชาชน และยกอำนาจนอกระบบมาอธิบายว่าคือสิ่งที่ที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นกลุ่มที่พยายามฉกฉวยโอกาสความขัดแย้งทางการเมือง จะถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

"พวกที่พยายามสกัดกั้นก็คนหน้าเดิม ตั้งแต่ออกมาโค่นล้ม คุณทักษิณ นายสมชาย นายสมัคร และจนมาถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถามคุณอภิสิทธิ์ น่าจะอธิบายได้เป็นอย่างดี เพราะว่าบัญชีรายชื่อของพรรคพวกน่าจะอยู่ครบถ้วน" รมช.พาณิชย์ กล่าว

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ยืนยันว่าการพูดปาฐกถาของนายกรัฐมนตรี ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมหน้าศาลของกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย แต่เป็นการพูดที่สอดรับกับความจริงทางการเมืองของประเทศไทยและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุด เนื่องจากเวทีโลกเป็นการประชุมในเรื่องของประชาธิปไตย

ทั้งนี้มองว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนในนามของวิทยุชุมชน ไม่ได้มีมติจากแกนนำ นปช.หรือการเข้าไปแทรกแซงของ นปช.และพรรคเพื่อไทย โดยตนอยากให้ความเคลื่อนไหวทั้งฝ่ายต้านและฝ่ายสนับสนุนเป็นไปภายใน้กรอบของกฎหมาย

นอกจากนี้การแสดงความคิดเห็นตนมองว่าทางฝ่ายตุลาการควรหารือกันและทบทวนบทบาทที่ผ่านมา และควรอธิบายต่อสังคมว่าความเป็นจริงอย่างที่ประชาชนสงสัยหรือไม่

อย่างไรก็ตามอยากให้ประชาชนเข้าใจด้วยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ ส.ส. ส.ว.ไม่รับอำนาจรัฐธรรมนูญ แต่ยืนยันว่าเรารับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญทำโดยไม่มีอำนาจที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งเป็นการล่วงละเมิดอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ อีกทั้งการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยื่นมือข้ามหัวอัยการสูงสุดไปรับเรื่องร้องเรียนโดยตรงจากประชาชนนั้น มองว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่สภาฯ ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมรับอำนาจนิติบัญญัติที่มาจากประชาชนมากกว่า จึงเกิดปัญหา

ส่วนกรณีของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี จะยื่นร่างพ.ร.บ.ปรองดองต่อที่ประชุมพรรคเพื่อไทยนั้น มองว่าโดยหลักการแล้วอะไรก็ตามที่จะสร้างความปรองดองนั้นตนเห็นด้วย แต่โดยเนื้อหารายละเอียดคงต้องขอฟังการชี้แจงจาก ร.ต.อ.เฉลิม ก่อน เนื่องจากเพิ่งทราบรายละเอียดร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ทั้งนี้ก็มีทีท่าจะให้การสนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในนามของแกนนำ นปช.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ