"ศาลนัดบ่ายวันนี้ เพื่อไต่สวนคำขอคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉิน"นายศรีสุวรรณ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลตั้งแต่เมื่อครั้งตั้ง กยน. และจัดทำแผนแม่บทก่อนจะออก พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท, การตั้ง กนอช.และ กบอ. จนถึงประกาศเชิญชวนทำ Conceptual Design จนถึงการทำทีโออาร์ ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนตามที่กฎหมายกำหนดเลย
นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า กระบวนการตั้งแต่ต้นจนมาถึงการทำทีโออาร์ไม่มีกระบวนการไหนที่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเลย แล้วอยู่ๆจะมาเปิดซองกันในวันพรุ่งนี้ โดยมีการตั้งกรอบไว้ 10 โมดูล ซึ่งทั้ง 10 โมดูลน่าจะกระทบต่อภาคประชาชนทั้งสิ้น จึงควรจะมีการศึกษาผลกระทบต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อนที่จะเปิดซองจัดซื้อจัดจ้าง
"ภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 67 มาตรา 85 และมาตรา 87 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรา 37 มาตรา 38 มาตรา 60 มาตรา 63 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 5 ประกอบมาตรา 11 ไม่มีการทำ EIA, EHIA"นายศรีสุวรรณ กล่าว
นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า เมื่อวานนี้เราทำงานกันเป็นทีม ขณะที่ทีมหนึ่งไปยื่นศาลปกครอง นายปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (Thaiflood.com) ก็เข้ายื่นหนังสือให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ขอให้ชี้มูลความผิดดำเนินคดีอาญากับ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในการบริหารจัดการน้ำโดยใช้เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท โดยไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนและไม่จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย
"เครือข่ายเดียวกัน แยกย้ายกันโจมตี แยกย้ายกันทำหน้าที่ ผมถนัดทางศาลก็ไปศาล กลุ่ม Thaiflood.com ก็ไปที่ ปปช."นายศรีสุวรรณ กล่าว