In Focusหนึ่งทศวรรษ “นิคมอุตสาหกรรมแกซอง" จากจุดเริ่มต้นอันเรืองรองสู่อนาคตที่ริบหรี่

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 8, 2013 14:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แม้จนถึงขณะนี้ สงครามบนคาบสมุทรเกาหลียังไม่บังเกิดขึ้นตามคำขู่ของเกาหลีเหนือ แถมยังมีรายงานข่าวล่าสุดว่า โสมแดงได้ถอนขีปนาวุธ Musudan จำนวน 2 ลูก ออกจากฐานปล่อยจรวดทางชายฝั่งตะวันออกของประเทศแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถกล่าวได้ว่าสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

หนึ่งในหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ยังไม่ “ญาติดี" กัน ก็คือการที่นิคมอุตสาหกรรมแกซอง (Kaesong Industrial Complex) ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สุดท้ายของความร่วมมือระหว่างโสมขาวและโสมแดงยังคงถูกปิดตายเป็นเมืองร้างอยู่ในขณะนี้

จุดเริ่มต้นอันเรืองรอง

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2546 หรือเมื่อ 10 ปีก่อน เจ้าหน้าที่หลายร้อยคนจากเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้มารวมตัวกันใกล้กับเมืองเก่านามว่า แกซอง เพื่อร่วมในพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ร่วมกันบนพรมแดนของเกาหลีเหนือ

นิคมอุตสาหกรรมแกซองตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงโซลประมาณ 70 กิโลเมตร โดยมีการสร้างทางหลวงแห่งใหม่ ทำถนนลาดยาง และเส้นทางรถไฟที่วิ่งผ่านเขตปลอดทหาร ซึ่งเป็นพื้นที่กันชนที่แบ่งแยกเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ออกจากกันนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเกาหลี เพื่อนำวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเข้าสู่นิคมฯ และขนส่งสินค้าที่ผลิตแล้วออกจากนิคมฯเพื่อไปจำหน่ายในเกาหลีใต้ นิคมอุตสาหกรรมแกซองได้รับการจ่ายกระแสไฟฟ้าจากเกาหลีใต้

ชุง มง-ฮุน ประธานกลุ่มบริษัทฮุนได กล่าวถึงโครงการใหม่เอี่ยมอ่องในขณะนั้นว่า เป็น “สัญลักษณ์ของการเริ่มต้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองเกาหลี" ขณะที่นายรี จอง-ฮยอก จากทางฝั่งเกาหลีเหนือกล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมแกซองสะท้อนถึงความปรารถนาของเกาหลีเหนือที่จะได้กลับมาร่วมชาติกับเกาหลีใต้

โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมร่วมแห่งนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากทางฝั่งเกาหลีใต้ ดำเนินการก่อสร้างโดยฮุนได อาซาน ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของฮุนได กรุ๊ป และโคเรีย แลนด์ คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทของเกาหลีใต้เช่นกัน และแม้จะเป็นการร่วมลงทุนโดยเอกชน แต่รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศก็มีส่วนร่วมในการริเริ่มโครงการนี้

โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแบบจำลองความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนาคตระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ซึ่งยังไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเพื่อสิ้นสุดสงครามเกาหลี (ปี 2493-2496) อย่างเป็นทางการ

นิคมอุตสาหกรรมแกซองเป็นเขตปลอดภาษี และไม่มีการวางกฎระเบียบเกี่ยวกับการใช้สกุลเงินต่างประเทศหรือบัตรเครดิต อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องใช้ตราประทับหนังสือเดินทาง หรือวีซ่า เพื่อเข้าไปในนิคมฯ

ปัจจุบันมีบริษัทอยู่ 123 แห่งจากอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเซมิคอนดักเตอร์ ที่เปิดดำเนินการอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแกซอง บริษัทที่ตั้งอยู่ในนิคมฯได้รับการยกเว้นภาษีและได้รับมาตรการจูงใจอื่นๆจากทางการเกาหลีใต้ เช่น เงินเดือนสูง สวัสดิการสังคม และการรับประกันความเสี่ยงทางการเมือง สินค้าทั้งหมดที่ผลิตในนิคมฯ ตั้งแต่หม้อหุงอาหาร เสื้อผ้า รองเท้า และนาฬิกา ถูกส่งออกไปจำหน่ายในเกาหลีใต้

กระทรวงรวมชาติของเกาหลีใต้ระบุว่า ณ เดือนธันวาคม 2555 บริษัทเหล่านี้ได้ว่าจ้างแรงงานชาวเกาหลีเหนือ 53,448 คน และชาวเกาหลีใต้ 786 คน นิคมอุตสาหกรรมแกซองสามารถผลิตสินค้าคิดเป็นมูลค่า 470 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว และนับตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการจนถึงปัจจุบัน นิคมฯผลิตสินค้าคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ จึงนับได้ว่านิคมอุตสาหกรรมแกซองเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดระหว่างสองเกาหลี

ยาง จู มิน ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกาหลีเหนือศึกษาในกรุงโซลกล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมแกซองทำกำไรให้เกาหลีเหนือถึง 100 ล้านดอลลาร์ต่อปี ขณะที่เกาหลีใต้ได้มากกว่า 4 เท่า

หากการพัฒนาโครงการสำเร็จลุล่วงตามแผน นิคมอุตสาหกรรมแกซองจะมีขนาดเท่ากับครึ่งหนึ่งของเกาะแมนฮัตตัน และจะเป็นที่ตั้งของย่านช็อปปิ้งและที่อยู่อาศัย รวมถึงการท่องเที่ยวและสันทนาการ

สายสัมพันธ์เศรษฐกิจบนเส้นทางขัดแย้งทางการเมือง

นอกจากเอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ 2 ฝ่ายแล้ว กล่าวคือบริษัทของเกาหลีใต้ได้อาศัยที่ดินและแรงงานราคาถูกของเกาหลีเหนือ ส่วนเกาหลีเหนือก็ได้อานิสงส์เป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแกซองยังมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองในการช่วยคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศที่เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ

แต่ดูเหมือนว่า เป้าหมายดังกล่าวจะเอนเอียงไปในทิศทางตรงกันข้ามเสียมากกว่า เมื่อนิคมอุตสาหกรรมแกซองกลายเป็นเหยื่อของความสัมพันธ์ที่ลุ่มๆดอนๆระหว่างสองเกาหลี

ในปี 2552 ทางการเกาหลีเหนือได้ออกกฎระเบียบหลายข้อเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมแกซอง ภายหลังจากที่เกาหลีใต้และสหรัฐดำเนินการฝึกซ้อมทางการทหารร่วมกัน นิคมฯถูกปิดไม่ให้เข้า-ออกนานหลายวัน ส่งผลให้แรงงานชาวเกาหลีใต้ติดแหง็กอยู่ในนิคมฯ อย่างไรก็ดี กฎระเบียบดังกล่าวได้รับการผ่อนคลายในภายหลัง และเกาหลีเหนือได้ตัดสินใจกลับมาเปิดชายแดนอีกครั้ง

ที่ผ่านมานั้น แม้ว่าสถานการณ์ตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีจะปะทุขึ้นอยู่บ่อยครั้ง แต่ด้วยเหตุที่ต่างฝ่ายต่างก็ได้ประโยชน์จากนิคมฯแห่งนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของนิคมอุตสาหกรรมแกซองจึงไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์กระทบกระทั่งระหว่างโสมแดงและโสมขาว

โดยโรงงานที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแกซองยังคงเปิดดำเนินการผลิตในช่วงเวลาที่สองประเทศกำลังฮึ่มๆกันอยู่ ได้แก่ ในปี 2549 ที่เกาหลีเหนือฝ่าฝืนมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วยการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ ต่อมาในปี 2552 เกาหลีเหนือยิงตอร์ปิโดโจมตีเรือรบ Cheonan ของเกาหลีใต้ จนเป็นเหตุให้เรือล่มและมีลูกเรือเสียชีวิตถึง 46 คน และในช่วงปลายปีเดียวกัน เกาหลีเหนือได้ยิงปืนใหญ่ไปตกบนและรอบๆเกาะยอนเปียง ซึ่งคร่าชีวิตชาวเกาหลีใต้ไปอีก 4 ราย

สื่อเกาหลีใต้ตีความว่า การที่เกาหลีเหนือไม่ยอมปิดนิคมอุตสาหกรรมแกซองในระหว่างที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงต่างๆนั้น ก็เพราะที่นี่เป็นแหล่งผลิตเงินสกุลหลัก (hard currency) ที่สำคัญยิ่งของเกาหลีเหนือ โดยเชื่อกันว่า ค่าแรงและค่าธรรมเนียมอื่นๆที่บริษัทเกาหลีใต้จ่ายให้กับแรงงานชาวเกาหลีเหนือในนิคมฯแห่งนี้ได้กลายสภาพเป็นเงินทุนที่ผู้นำเกาหลีเหนือนำไปใช้จ่ายในโครงการผลิตอาวุธต่างๆ

อนาคตที่ริบหรี่

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดครั้งล่าสุดนี้ ดูเหมือนว่า เกาหลีเหนือซึ่งเคยแสดงความไม่พอใจอย่างมากต่อข้อครหาข้างต้น ได้ยอมกัดฟันตัดเส้นเลือดของตนเอง

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. เกาหลีเหนือได้เรียกคนงานทั้งหมดออกจากนิคมอุตสาหกรรมแกซอง เพื่อประท้วงการฝึกซ้อมทางการทหารประจำปีร่วมกันระหว่างสหรัฐและเกาหลีใต้

เกาหลีใต้พยายามใช้ไม้นวมโดยยื่นข้อเสนอให้เกาหลีเหนือหันหน้ามาเจรจาเพื่อทำให้การดำเนินงานในนิคมอุตสาหกรรมแกซองกลับคืนสู่ภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือเบือนหน้าหนีเกาหลีใต้อย่างไม่ใยดี ส่งผลให้ประธานาธิบดีปัก กึน-ฮเย ของเกาหลีใต้ตัดสินใจถอนคนงานชาวเกาหลีใต้ทั้งหมดออกจากนิคมฯเช่นกัน พร้อมกับเตรียมมาตรการรองรับความสูญเสียในด้านต่างๆให้กับบริษัทที่ตั้งอยู่ในนิคมฯ ซึ่งรวมถึงการให้เงินกู้ฉุกเฉิน 3 แสนล้านวอน (273 ล้านดอลลาร์) แก่บริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการปิดนิคมฯ

รัฐบาลเกาหลีเหนือได้ออกมาประกาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า อนาคตของนิคมอุตสาหกรรมแกซองนั้นขึ้นอยู่กับท่าทีของเกาหลีใต้

คณะกรรมาธิการกลาโหมแห่งชาติ (NDC) ระบุในแถลงการณ์ว่า หากรัฐบาลเกาหลีใต้ปริวิตกเกี่ยวกับอนาคตของนิคมอุตสาหกรรมแกซอง เกาหลีใต้ก็ควรยุตินโยบายที่เป็นปรปักษ์ทั้งหมด และยุติการฝึกซ้อมทางการทหารที่เป็นการยั่วยุเกาหลีเหนือ

"ขณะนี้ทั้ง 2 ฝ่ายกำลังเล่นเกมวัดใจ (Game of Chicken) กันอยู่ โดยทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ต่างก็ไม่แสดงทีท่าว่าจะยอมลงให้อีกฝ่าย" ศาสตราจารย์ลิม อึล-ชูล จากมหาวิทยาลัยคยองนัมกล่าวกับบีบีซี

เหตุการณ์ล่าสุดนี้ถือได้ว่าเป็นครั้งวิกฤตที่สุดสำหรับนิคมอุตสาหกรรมแกซอง นับตั้งแต่ที่เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อปี 2547 และอาจกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายของความสัมพันธ์สองเกาหลี หากยังไม่มีทางออกที่เป็นที่พอใจของทั้ง 2 ฝ่าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ