ฝ่ายค้านห่วง พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านลบ.ทำหนี้ท่วมหากรัฐบาลขาดวินัยการเงินการคลัง

ข่าวการเมือง Thursday May 9, 2013 17:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ของประเทศ พ.ศ...(เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท) กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยในช่วง 50 ปีข้างหน้าอาจทำให้มีภาระดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้นนับล้านล้านบาทจากการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จนทำให้มีภาระเงินต้นและดอกเบี้ยมากกว่า 5 ล้านล้านบาท และอัตราดอกเบี้ยอาจปรับขึ้นจากร้อยละ 5 เพิ่มเป็นร้อยละ 8-10

การกู้เงินในประเทศเพื่อลงทุนโครงการดังกล่าวคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยให้อยู่ประมาณร้อยละ 5 เป็นการอ้างอิงจากการขายพันธบัตรให้กับกลุ่มบริษัทประกัน ด้วยอายุพันธบัตร 48 ปี จากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.27 เพราะบริษัทประกันมีความจำเป็นต้องถือกรมธรรม์ระยะยาว ทาง ธปท.จึงเห็นด้วยกับแนวทางการดูแลอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยให้อยู่ร้อยละ 5 ในระยะยาว เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาระหนี้สาธารณะของประเทศ

"เมื่อกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาวแล้วจึงไม่น่าเป็นห่วงจากการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย แต่หากในระยะยาวเมื่อตลาดมีความกังวลว่ารัฐบาลขาดวินัยการเงินการคลังอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยในระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต แต่การออกพันธบัตรทั้งของ ธปท.และพันธบัตรของกระทรวงการคลัง ได้มีการประสานงานกันตลอดเวลาเพื่อไม่ให้มีการแย่งตลาด และช่วยกันดูแลสภาพคล่องในระบบ" นายกรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ การที่ผู้ว่า ธปท.ย้ำว่า การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเพื่อต้องการดูแลดุลยภาพเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดูแลโดยคณะกรรมการ กนง.ซึ่งเป็นดอกเบี้ยระยะสั้นแบบข้ามคืน จึงเป็นคนละส่วนกับดอกเบี้ยระยะยาว 3-5 ปี เพื่อการออกพันธบัตร และเมื่อลดดอกเบี้ยระยะสั้นลง ไม่ได้ทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวลดลงตามไปด้วย เพราะเมื่อเศรษฐกิจมีความร้อนแรง เมื่อตัดสินใจลดดอกเบี้ยระยะสั้น กลับทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวปรับสูงขึ้นเพราะมีปัญหาอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งได้เกิดขึ้นในหลายประเทศ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ตลาดและนักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น หัวใจสำคัญคือการดูแลเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ และการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง ส่วนผลกำไรขาดทุนในงบดุลของธนาคารกลาง ตลาดจะไม่คำนึงในเรื่องดังกล่าวมากนัก เพราะในทุกประเทศต่างขาดทุนเหมือนกัน แต่อยู่ที่ว่าสามารถดูค่าเงินให้มีเสถียรภาพ และย้ำว่า ธปท.จะทยอยนำ 4 มาตรการที่เตรียมไว้มาใช้ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ