"ปัญหาพื้นฐานของประเทศไทย คือ ประเทศต้องการมีประชาธิปไตย แต่กลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยไม่เต็มใจที่จะยอมรับความต้องการของประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงส่วนใหญ่ของประเทศที่ได้แสดงผ่านการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา" นายนพดล ระบุ
พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว มีฐานะร่ำรวยมานานก่อนเข้าสู่การเมืองในปี 2537 ความร่ำรวยของครอบครัวได้ถูกประเมินไว้ไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท โดยเข้ารับตำแหน่งนักการเมืองครั้งแรกในตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศในปี 2537 และเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกและคนเดียวที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไป 2 ครั้งติดต่อกันในปี 2544 และ 2548
"ธุรกิจโทรคมนาคมที่ครอบครัวเป็นเจ้าของ ไม่ได้เป็นกิจการผูกขาด เพราะมีผู้แข่งขันรายอื่น และสัมปทานได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายจากรัฐบาลพลเรือนในปี 2532 ไม่ใช่จากรัฐบาลทหาร ตามคำกล่าวหาเท็จโดยพรรคประชาธิปัตย์" นายนพดล ระบุ
ส่วนข้อกล่าวอ้างว่ามีการวิสามัญฆาตกรรมหลายพันรายในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ดำเนินนโยบายสงครามต่อต้านยาเสพติดนั้นเป็นเรื่องจินตนาการและเป็นเท็จอย่างสิ้นเชิง จากรายงานที่เป็นทางการของ ป.ป.ส.มีการเสียชีวิตเพียง 50 รายเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ตัวเลขการตาย 2,500 ศพ เป็นตัวเลขการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ และจากทุกอาชญากรรมในช่วงเวลาหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เคยมีนโยบายสังหารผู้ค้ายาเสพติด และไม่เคยสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายไปฆ่าใคร
นายนพดล กล่าวว่า ในเดือน ก.ย.49 มีการรัฐประหารเพื่อล้ม พ.ต.ท.ทักษิณ และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นการลบล้างคะแนนเสียงของประชาชนชาวไทยกว่า 14 ล้านคน โดยคณะรัฐประหารได้ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด จนถูกเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และคณะรัฐประหารได้ร่วมมือกับพันธมิตรกลุ่มอื่นๆ ในกลุ่มชนชั้นอำมาตย์ เพื่อที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยฉบับปี 2550 ซึ่งประเทศไทยยังอยู่ใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จนปัจจุบัน
"เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อและน่าละอายที่พรรคประชาธิปัตย์จะพูดถึงการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 ว่าเป็นเพียงการแทรกแซงโดยทหาร เพราะมันคือการทำลายประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง พรรคประชาธิปัตย์ควรจะตระหนักว่า การออกเสียงลงประชามติเพื่อเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในปี 2550 ได้กระทำขึ้นภายใต้บรรยากาศของการข่มขู่และความหวาดกลัวว่ารัฐบาลทหารอาจเลือกรัฐธรรมนูญฉบับใดมาประกาศใช้ ถ้าการออกเสียงลงประชามติล้มเหลว" นายนพดล ระบุ
ผลการเลือกตั้งในปี 2550 ด้วยชัยชนะของพรรคพลังประชาชน ทั้งๆ ที่เป็นการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย และทั้งๆ ที่มีการพยายามโดยคณะรัฐประหารที่จะป้องกันไม่ให้คนไทยใช้สิทธิ์เลือกตั้งพรรคฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้แสดงให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ปฏิเสธและไม่ยอมรับการรัฐประหารในปี 2549
ในปี 2551 รัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช ได้เผชิญกับแรงกดดันให้ลงจากอำนาจ ท่ามกลางการประท้วงและการก่อความวุ่นวายโดยกลุ่ม พธม. พรรคพลังประชาชนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ขณะที่กลุ่ม พธม.กล่าวหาว่าเป็นความพยายามที่จะนิรโทษกรรมทางการเมืองให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ กลุ่ม พธม.ได้ยึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบินสุวรรณภูมิในเดือน พ.ค.51 เพื่อล้มรัฐบาลให้ได้ ส.ส.หลายคนจากพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมการประท้วง รวมทั้งนายกษิต ภิรมย์ ซึ่งต่อมาได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้งเป็น รมว.ต่างประเทศ และถูกตั้งข้อกล่าวหาก่อการร้าย
ท้ายที่สุดนายสมัคร สุนทรเวช ถูกตัดสินโดยศาลรัฐธรรมนูญว่าขาดคุณสมบัติที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการออกรายการทีวีทำกับข้าว ซึ่งก่อให้เกิดความประหลาดใจเป็นอย่างมากในหมู่ผู้สนับสนุน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จึงได้เข้าตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
ในเดือน ธ.ค.51 ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งยุบพรรคพลังประชาชนและพรรคเล็กอื่นๆ และได้ตัดสิทธิ์เลือกตั้งนักการเมือง 109 คน เป็นเวลา 5 ปี และทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากข้อหาที่ว่ากรรมการบริหารพรรค 1 คนได้จ่ายเงินประมาณ 20,000 บาท แก่ผู้นำท้องถิ่นก่อนวันเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่กรรมการบริหารเพียงคนเดียวถูกตัดสินว่ากระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง แต่กรรมการบริหารที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ก็ต้องถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้งไปด้วย
ขณะที่ข้อกล่าวหาของพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่า นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พยายามที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อนำ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้านโดยไม่มีความผิดจนก่อให้เกิดการประท้วงบนท้องถนนนั้นเป็นความเท็จ เพราะทั้งสองท่านไม่เคยดำเนินการดังกล่าว
ในเดือน ธ.ค.51 อีกเช่นกัน หลังจากการยุบพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทยถูกตั้งขึ้นแทนพรรคพลังประชาชน และเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยขณะนั้น แต่พวกเราถูกบังคับและเสียสิทธิ์ในการตั้งรัฐบาล เพราะได้มีการรัฐประหารเงียบเกิดขึ้น และพรรคเล็กพรรคน้อยได้ถูกบังคับให้ไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เพื่อให้เป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยชนะการเลือกตั้งในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา และขาดอาณัติจากประชาชนที่จะทำเช่นนั้น พรรคเพื่อไทย พี่น้องคนเสื้อแดง และคนไทยนับล้าน ไม่ยอบรับความชอบธรรมของรัฐบาลนี้
คนเสื้อแดงซึ่งประกอบไปด้วยประชาชนจากทุกภาคส่วนซึ่งคัดค้านการรัฐประหารเพื่อล้มล้าง พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ออกจากตำแหน่งในปี 2549 และบุคคลเหล่านี้ไม่อาจทนต่อระบบสองมาตรฐาน และความอยุติธรรม กลุ่มคนดังกล่าวเหล่านี้เชื่อว่าสิทธิทางการเมืองถูกพรากไปโดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ร่างโดยผู้ที่หัวหน้าคณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้น ยิ่งกว่านั้นพวกเขามีความเห็นว่ารัฐบาลนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ไม่มีความชอบธรรม เพราะเข้าสู่อำนาจโดยผลของการกดดันทางการเมืองและการเจรจาลับหลังจากที่มีการตัดสินของศาล ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นผลให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนสองรัฐบาลที่นำโดย นายสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากตำแหน่ง
พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคพลังประชาชน ไม่สามารถครอบงำคนเสื้อแดง พวกเขาได้ชุมนุมประท้วงเป็นเวลา 2-3 เดือน จนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้สั่งให้ทหารพร้อมอาวุธสงครามสลายการชุมนุมในวันที่ 19 พ.ค.53 และก่อให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก การใช้กระสุนจริงเพื่อสลายผู้ชุมนุมที่ใช้สิทธิ์ชุมนุมภายใต้รัฐธรรมนูญ และข้อเท็จจริงที่ว่าการปฏิบัติการได้เกิดขึ้นในเวลากลางคืน ไม่เป็นไปตามขั้นตอนและมาตรฐานสากล ยังผลให้มีผู้ประท้วงและทหารเสียชีวิตราว 91 ศพ และบาดเจ็บนับพันราย ศาลอาญาได้ตัดสินในหลายคดีว่าการเสียชีวิตเกิดจากกระสุนจริงที่ใช้โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ขณะที่การตั้งข้อกล่าวหาทั้งคดีอาญาและคดีการก่อการร้ายต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร และถูกสอบสวนโดย คตส.ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารและสมาชิก ประกอบไปด้วยบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองเป็นอย่างมากต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้นจึงขัดกับหลักนิติธรรม คดีที่ดินรัชดา ที่เป็นคดีเดียวที่ตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิด ก็อยู่ในคดีดังกล่าวเหล่านี้ด้วย
การถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้ชักใยการประท้วง ทั้งๆ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ปฏิเสธมาอย่างต่อเนื่องว่าท่านเพียงให้กำลังใจ และเห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง นั่นก็คือประชาธิปไตยและความยุติธรรมสำหรับคนไทยทุกคน พยานที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ใช้เพื่อสนับสนุนข้อหาก่อการร้ายต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเพียงวิดีโอที่ พ.ต.ท.ทักษิณ พูดกับคนเสื้อแดงว่า ถ้าทหารใช้ความรุนแรงต่อคนเสื้อแดง ให้พี่น้องคนเสื้อแดงไปรวมตัวที่ศาลากลางจังหวัด พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เคยสั่งหรือขอให้ใครกระทำการที่ผิดกฎหมาย และได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาก่อการร้ายที่ถูกตั้งขึ้นเพราะมีเหตุจูงใจทางการเมือง
สำหรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้นำพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค.54 พรรคเพื่อไทยชนะ 265 ที่นั่งจากจำนวน 500 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยได้รณรงค์อย่างชัดเจนว่านโยบายที่นำเสนอนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนคิด และพรรคเพื่อไทยเป็นคนทำ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย และผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้ในสิ่งที่ตนเองเลือก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ของประเทศไทย ทั้งในทางข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง และท่านก็เป็นผู้ตัดสินใจในฐานะนายกรัฐมนตรี และการเข้าร่วมประชุมสภาฯ นั้นก็ตามที่เห็นว่าจำเป็น และไม่เคยมีเจตนาที่จะละเลยหน้าที่นี้
"เหมือนพี่ชายของท่าน นายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่เคยมีความปรารถนาที่จะครอบงำ 3 อำนาจ ตามที่กล่าวหาเท็จโดยประชาธิปัตย์ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีความเห็นว่าฝ่ายตุลาการ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ควรถ่วงดุลและตรวจสอบซึ่งกันและกันแทนที่จะครอบงำอำนาจอื่น คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อเร็วๆ นี้ที่รับคำร้องที่ยื่นโดยสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา ที่กล่าวหาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย ส.ส. และ ส.ว. ที่ค้างอยู่ในรัฐสภาในขณะนี้ เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ได้ก่อให้เกิดความกังวลใจในหมู่ประชาชนเป็นอย่างมาก คำสั่งนี้ถูกมองโดยนักกฎหมายชั้นนำในประเทศ และคนไทยจำนวนหลายล้านคน ว่าเป็นการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่เกินเลยไป และอาจจะเป็นการละเมิดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ" นายนพดล ระบุ
ปัญหาการเมืองในประเทศไทยจะยังคงมีอยู่ต่อไป ตราบใดที่เจตจำนงและการตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้รับการเคารพ ไม่ควรมีพรรคการเมืองใดได้ประโยชน์จากการรัฐประหาร หรือจากรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เฉพาะประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และความยุติธรรม เท่านั้นที่จะสามารถประกันให้มีสันติภาพ และความมั่งคั่งของประเทศไทย และของโลกได้
ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวจะส่งไปยังสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ องค์กรระหว่างประเทศ และสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อชี้แจงให้นานาประเทศได้ทราบข้อเท็จจริงหลังจากก่อนหน้านี้ทางพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นไปแล้ว