ส่วนการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นจะยกเลิกนำร่องในอำเภอที่มีความพร้อมมากที่สุดก่อน ซึ่งขณะนี้มีการประสานกับประชาชนในพื้นที่ให้แสดงความต้องการแล้ว ภายใน 90 วัน ซึ่งทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจังหวัดละ 2 อำเภอ แต่ทั้งหมดต้องรอให้ ศอ.บต. และ กอ.รมน.จังหวัด ยืนยันสถานการณ์ในพื้นที่อีกครั้ง ทั้งนี้ฝ่ายทหารก็เห็นด้วยในหลักการ แต่อยากได้ความชัดเจนจากภาคประชาชนว่าจะสามารถช่วยกันดูแลพื้นที่ให้เกิดความสงบได้
สำหรับการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น พล.ท.ภราดร ยืนยันว่า ที่ประชุมฯยังเห็นตรงกันที่จะต้องเดินหน้าต่อไป แม้ 5 ข้อเสนอผ่านทางยูทูป อาจดูเป็นเรื่องยากที่จะปฏิบัติตาม และในที่ประชุมได้นำบทวิเคราะห์ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศปก.กปต. มาศึกษาทำความเข้าใจ ซึ่งคณะเจรจาฝ่ายไทยจะรับไปพิจารณา ก่อนมีการพูดคุยอีกครั้ง และขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นที่จะตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยเพื่อหารือในทางลับ แต่ที่ประชุมฯก็เห็นชอบตามที่รองนายกฯ เสนอให้นายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทย พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา และนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ร่วมกันทำงานหาข้อมูลและลงพื้นที่ประสานงานช่วยเหลือ ผอ.ศปก.กปต. เพื่อให้การแก้ปัญหาภาคใต้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า
เลขาฯ สมช.กล่าวอีกว่า จากนี้ไป ศปก.กปต.จะจัดการประชุมบ่อยขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่จะมีการประชุมติดตามความคืบหน้าการทำงานทุกสัปดาห์