ป.ป.ช.มีมติส่งแนวทางป้องกันการทุจริตโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนลบ.ให้รัฐบาล

ข่าวการเมือง Friday May 17, 2013 17:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงถึงแนวทางและมาตรการของ ป.ป.ช.ในการป้องกันการทุจริตโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และ ระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย วงเงิน 3.5 แสนล้านบาทว่า ที่ประชุมป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์เห็นชอบตามข้อเสนอแนะของอนุกรรมการมาตรการป้องกันการทุจริต ในการส่งข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามาตรการป้องกันการทุจริตและความเสียหายของทางราชการในการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา19(11)แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542

เนื่องจาก ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีการใช้งบประมาณจำนวนมาก และมีจุดเสี่ยงหลายจุด พร้อมยืนยันมติ ป.ป.ช.ครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับการประชุมผู้นำน้ำโลกที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงไม่ได้เป็นการกล่าวหารัฐบาลว่าอาจมีการทุจริต แต่เพื่อให้มีการปรับปรุงการใช้งบประมาณให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 19(11) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะพิจารณาอย่างไร

"การเสนอแนะมาตรการการป้องกันทุจริตให้รัฐบาล เพราะมีความห่วงใยและไม่ได้ขัดขวางโครงการ แต่ต้องการให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ มีความโปร่งใส ส่วนรัฐบาลจะนำไปปฏิบัติหรือไม่ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะพิจารณา" นายกล้านรงค์ กล่าว

ด้านนายพรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การดำเนินโครงการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาลมีลักษณะที่เร่งรีบและรวบรัดเมื่อเทียบกับการดำเนินโครงการตามปกติ การคัดเลือกผู้รับจ้าง หรือการแข่งขันของบริษัทที่ยื่นข้อเสนอมีไม่มากเท่าที่ควร

อีกทั้งการจ้างเหมายังเป็นการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จในรูปแบบ design build เป็นการกำหนดให้ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบทั้งการออกแบบและก่อสร้างในแต่ละโมดูล การรวมงานที่มีลักษณะที่หลากหลาย ดำเนินการในพื้นที่หลายแห่ง และที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ให้มาอยู่ในสัญญาเดียวกัน มีแนวโน้มทำให้การตรวจรับงาน การควบคุมงาน และการเบิกจ่ายมีความยุ่งยากมากขึ้น ผู้ว่าจ้างจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความซื่อสัตย์อย่างสูง หากทางราชการไม่สามารถรองรับงานเหล่านี้ได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตได้

ดัวยเหตุนี้จึงได้มีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลเพื่อพิจารณาให้หน่วยงานที่เกี่ยงข้องพิจารณาดังนี้ คือ ในการพิจารณาคัดเลือกผู้รับจ้าง ควรกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกให้ชัดขึ้นเพื่อให้การคัดเลือกเป็นไปด้วยความโปร่งใส

ส่วนการทำสัญญาจ้าง ไม่ควรรวมงานที่มีความหลากหลายทั้งในแง่ของลักษณะงานและในด้านพื้นที่ก่อสร้างไว้ในสัญญาเดียวกัน ควรแสกสัญญาเพื่อกระจายความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการ และการกำกับโครงการและตรวจรับงาน ควรมอบหมายหน่วยงานราชการที่มีภารกิจเกี่ยวข้องโดยตรงเป็นผู้รับผิดชอบ มีกลไกตรวจสอบงานแบบ check and balance เพื่อป้องกันการทุจริต รวมทั้งควรให้เครือข่ายภาคเอกชนต่อต้านการคอรัปชั่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินโครงการ

วานนี้นายเมธี ครองแก้ว ประธานคณะอนุกรรมการมาตรการป้องกันการทุจริต ได้สรุปแนวทางและมาตรการป้องกันการทุจริตโครงการลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล โดยหนังสือสรุปแนวทางและมาตรการป้องกันดังกล่าวมีประมาณ 10 หน้า ชี้จุดเสี่ยง 7-8 จุด ตั้งแต่เริ่มโครงการ การเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งจุดใหญ่จะมีเรื่องความเสียหายที่มาจากความไม่พร้อมในเรื่องของที่ดิน กรรมสิทธิ์ที่ดิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ