ขณะเดียวกัน ที่ประชุมวิปฝ่ายค้านได้หารือถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2557 โดยได้เชิญตัวแทนสำนักงบประมาณ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกรมบัญชีกลางมาให้ข้อมูล ซึ่งจากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่ารัฐบาลคาดการณ์จัดเก็บรายได้ไว้ที่ 2.27 ล้านล้านบาท ทำให้ขาดดุลประมาณ 2.5 แสนล้านบาท และต้องไปกู้หนี้มาชดใช้งบประมาณ
ทั้งนี้เมื่อดูตัวเลขที่จะต้องก่อหนี้ พบว่าเป็นเพียงตัวเลขหนี้หน้าฉากที่ระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2557 แต่ในความเป็นจริงได้มีการก่อหนี้มาก่อนหน้านี้ และกำลังจะก่อหนี้ในระยะเวลาอันใกล้อีก ซึ่งจะเป็นภาระในการจัดงบประมาณแผ่นดินในการใช้หนี้ในอนาคต 3 ก้อน ก้อนแรกเป็นหนี้ที่เกิดจากการรับจำนำข้าว ก้อนที่สองเป็นหนี้ที่เกิดจากโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และก้อนที่สามเป็นหนี้จาก พ.ร.บ.ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อีก 2 ล้านล้านบาท แต่ต้องชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยประมาณ 5 ล้านล้านบาท เมื่อรวมหนี้ทั้ง 3 ก้อนเป็นมูลค่าเกือบ 6 ล้านล้านบาท
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บอกว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้เป็นเรื่องของสภาฯ นั้นแสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีกำลังลอยตัวเสมือนหนึ่งปากว่าตาขยิบ เพราะหากนายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วย เหตุใดจึงไม่ห้ามปราม ไม่ว่าจะเป็นร่างกฎหมายฉบับของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี หรือร่างกฎหมายฉบับของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยก็ตาม
"การตัดมาตรา 5 ในร่างพ.ร.บ.ปรองดองของ ร.ต.อ.เฉลิม เกี่ยวกับการจัดงบประมาณเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง ก็เพื่อที่จะเลี่ยงการให้นายกรัฐมนตรีเซ็นร่างกฎหมายดังกล่าว แต่หากดูมาตรา 4 ในความเห็นของฝ่ายค้านก็ยังเป็นกฎหมายการเงินอยู่ดี เพราะมีผลต่อการคืนทรัพย์ของแผ่นดิน ฝ่ายค้านจะยังคงติดตามความเคลื่อนไหวร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับต่อไป และจะรอดูว่าวันที่ 23 พ.ค.นี้จะมีการยื่นแล้วตัดมาตราใดออกบ้าง" นายจุรินทร์ กล่าว