นายพีรพันธ์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของร่าง พ.ร.บ.นี้ต้องการนิรโทษกรรมให้กับความผิดต่างๆ ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดความปรองดองและความสามัคคีในประเทศ โดย พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมาจากการริเริ่มของ ร.ต.อ.เฉลิม ซึ่ได้รับมอบหมายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ดูแลงานด้านความมั่นคง
เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีเพียง 5 มาตรา จากเดิมที่ร่างไว้ 6 มาตรา โดยได้ตัดมาตรา 5 ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง เพราะเห็นว่าจะเข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงินที่นายกรัฐมนตรีต้องลงนามรับรอง
ส่วนหัวใจหลักสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว คือ มาตรา 3 ที่ยกเว้นความผิดทั้งหมดตั้งแต่ 2549 จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาตัดสินไปแล้ว หรืออยู่ระหว่างการสอบสวน หรืออยู่ระหว่างดำเนินการฟ้องร้อง รวมถึงการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ให้ถือว่าไม่มีความผิดต่อไป
"ส่วนมาตรา 4 ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ทำเพื่อคืนเงินจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาทแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผมยืนยันว่าเงินจำนวนดังกล่าว ศาลได้ตัดสินให้ตกเป็นของแผ่นดินไปแล้ว หากจะคืนเงินแนวทางที่ทำได้คือไปออก พ.ร.บ.งบประมาณเท่านั้น"นายพีรพันธุ์ กล่าว
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ใช่กฎหมายการเงิน เพราะได้นำบรรทัดฐานจากกรณีที่ประธานสภาฯ ได้เคยประชุมร่วมกับประธานกรรมาธิการ(กมธ.) สามัญสภาทุกคณะ ที่ได้เคยวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ ไว้ก่อนหน้านี้ว่าไม่ใช่กฎหมายการเงิน ส่วนข้อกังวลว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวจะขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ที่รองรับผลพวงจากการรัฐประหารหรือไม่นั้น คิดว่าไม่ขัดแต่ก็ค่อยไปว่ากัน
"เหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับผลกระทบมากที่สุด หากไม่ใส่ใจท่าน ต่อไปจะอยู่ได้อย่างไร"นายพีรพันธุ์ กล่าว