ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ประชาชนร้อยละ 51.9 ติดตามข่าวการเมืองผ่านสื่อมวลชนบ่อยมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 48.1 ระบุไม่บ่อยถึงไม่ได้ติดตามเลย
ทั้งนี้ เมื่อประเมินดัชนีความเสี่ยงทางการเมืองประจำเดือนพฤษภาคม 2556 เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับองค์กรอิสระ มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองสูงที่สุดคือ 6.51 รองลงมาคือ ความขัดแย้งระหว่างมวลชนหนุน กับ มวลชนต้านรัฐบาล มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 5.84 อันดับสามได้แก่ การครอบงำแทรกแซงนโยบายสาธารณะของรัฐบาลโดยชนชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 5.72 อันดับสี่ได้แก่ ข่าวลือการทำรัฐประหาร มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 5.35
อันดับที่ห้า ได้แก่ ข่าวอื้อฉาวพฤติกรรมนักการเมือง ทุจริตคอรัปชั่น เอื้อผลประโยชน์พวกพ้อง มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 5.29 รองๆ ลงไปคือ ความไม่เป็นธรรมและการเลือกปฏิบัติทางการเมืองมีค่าความเสี่ยงอยู่ที่ 5.24 ภัยรุกรานทางเศรษฐกิจจากต่างประเทศ มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 5.18 ความไม่มั่นคงของประเทศโดยรวม มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 5.13 ปัญหาสังคมโดยรวม มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 5.11 การก่อการร้าย มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 4.67 ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 4.21 ภัยพิบัติ มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 4.20 การสื่อสารทางการเมือง มีความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 4.18 ในขณะที่ความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และการปกครองแบบประชาธิปไตย มีค่าความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 3.29 และ 2.57 ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 43.8 ระบุความเสี่ยงทางการเมืองของรัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ ร้อยละ 39.4 ระบุเสี่ยงเท่าเดิม และร้อยละ 16.8 ระบุเสี่ยงลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงการสนับสนุน นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 52.8 ระบุยังคงสนับสนุนถึงสนับสนุนมากที่สุด ในขณะที่ ร้อยละ 26.8 ระบุเฉยๆ และร้อยละ 20.4 ไม่ค่อยสนับสนุนถึงไม่สนับสนุนเลย และเมื่อสอบถามถึงความอดทนของสาธารณชนต่อความน่าเบื่อต่อคุณภาพของนักการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.5 ระบุยอมทนได้จนถึงวันเลือกตั้งใหม่
แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ เกินครึ่งหรือร้อยละ 54.7 ระบุนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นไปเพื่อประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำ มากกว่าเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ ในขณะที่ร้อยละ 45.3 ระบุเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศมากกว่า
สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวจากกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี สมุทรปราการ สุโขทัย เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ ขอนแก่น สุรินทร์ สกลนคร เลย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ภูเก็ต ตรัง และ สงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,168 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 — 25 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7