ทั้งนี้ฝ่ายค้านจะเน้นการอภิปรายใน 3 หัวข้อหลัก คือ ความล้มเหลวในการบริหารงาน การทุจริตคอร์รัปชั่น และการใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบ จนส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้สินมากมาย ขณะเดียวกันได้เรียกร้องพรรคเพื่อไทยให้อภิปรายอย่างสร้างสรรค์ งดประท้วงไปมา และขอให้รักษาคำพูดเรื่องข้อตกลงเรื่องกรอบเวลา เพื่อให้การอภิปรายราบรื่นและร่วมตั้งกรรมาธิการขึ้นมา 63 คน และการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่สามารถสอดไส้หรือลักไก่นำกฎหมายฉบับอื่นมาพิจารณาได้
ส่วนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น นายจุรินทร์ ย้ำว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยและขอให้ประชาชนจับตาในวันที่ 7 ส.ค. ว่าจะมีการเลื่อนหรือนำรางพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ขึ้นมาพิจารณาด้วยหรือไม่ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดรัฐบาลจึงตัดสินใจจัดทำเวทีสานเสวนาในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค. ทั้งที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้จัดสานเสวนามานานแล้ว ดังนั้นจึงเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลต้องการให้เวทีสานเสวนามีความเห็นเกิดขึ้นสอดรับช่วงที่จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเท่ากับเป็นการล็อคสเป็คไว้ล่วงหน้าเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการผ่านความเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว
"ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม อาจถูกใช้เป็นหัวเชื้อนำไปสู่การล้างความผิดแบบสุดซอย ทำลายหลักนิติธรรมด้วยวิธีการใดๆ ที่ต้องติดตามกันต่อไป สังคมต้องจับตา ถ้าผิดก็ต้องคัดค้านตั้งแต่ฉบับหัวเชื้อ คือ ร่างของนายวรชัย เพราะอาจหลงกลทางการเมือง แก้ไขไม่ทันการ" นายจุรินทร์ กล่าว