พร้อมทั้ง ขอให้มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและตัดสิทธิทางการเมืองผู้บริหารพรรค
"ขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน เพราะมีการเร่งรัดจะให้รีบผ่านร่างรัฐธรรมนูญ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68) ดังกล่าว ใช้เป็นกฎหมาย เพื่อจะนำไปสู่การลงมติในวาระที่สาม ของร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ที่ค้างอยู่ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้"นายปานเทพ กล่าว
ก่อนหน้านี้ กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 68 โดยคณะทนายและนักวิชาการของพันธมิตรฯ เห็นว่าภายหลังจากการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวและศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องของกลุ่มบุคคลต่างๆแล้ว พรรคเพื่อไทยยังมีพฤติกรรมอื่นๆ ตามมาที่สะท้อนให้เห็นว่ามีเจตนาที่จะต้องการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่เคารพหลักนิติรัฐ และหลักการถ่วงดุลอำนาจโดยตุลาการ เช่น การเตรียมออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับพวกพ้องที่ผู้ที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอาญาร้ายแรง, การออกแถลงการณ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ, โฆษณาชวนเชื่อใส่ร้ายป้ายสีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยข้อความอันเป็นเท็จ, การสไกป์ของนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ทั้งในเวทีคนเสื้อแดงและการมีอิทธิพลต่อพรรคเพื่อไทย, การปล่อยให้มีมวลชนข่มขู่และกดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้พิจารณาคดีความที่รัฐบาลได้กระทำความผิด ฯลฯ
"ตัวอย่างพฤติกรรมที่ปรากฏเป็นหลักฐานทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเหล่านี้เป็นการดำเนินการที่เป็นขบวนการเพื่อทำลายการแบ่งแยกและการถ่วงดุลอำนาจ เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองของพรรคเพื่อไทยแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หาได้เป็นหนทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยไม่แต่อย่างใด"
การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 311 คน เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาเพื่อให้บรรจุร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเข้าระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นการใช้สิทธิที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และให้ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นอันตกไป
การที่นายสมศักดิ์ รับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว แล้วบรรจุร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเข้าระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นการใช้อำนาจหน้าที่หรือสิทธิที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 อีกทั้ง ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 311 คน ผู้ เสนอร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวต่อนายสมศักดิ์ พร้อมทั้งออกแถลงการณ์ต่อต้านและไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
ดังนั้น จึงขอให้วินิจฉัยสั่งการให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา ส.ส.และ ส.ว.เลิกกระทำการดังกล่าว โดยสั่งให้ถอนร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวออกจากการพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่สองหรือวาระที่สาม และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาไม่บรรจุเรื่องร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเข้าระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวาระที่สองหรือวาระที่สาม หรือถอนเรื่องร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวออกจากระเบียบดังกล่าวในวาระที่สอง หรือวาระที่สาม
การที่ ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 374 คน ดังกล่าว ลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ศาลวินิจฉัยสั่งการให้ยุบพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล พรรคมหาชน และพรรคประชาธิปไตยใหม่ เพราะ ส.ส.พรรคการเมืองเหล่านี้ต่างเสนอกฎหมายและออกแถลงการณ์ไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ
และ วินิจฉัยสั่งการให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารของพรรคดังกล่าว ทุกพรรค เป็นระยะเวลาห้าปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง เพราะพรรคการเมืองเหล่านี้ต่างเสนอกฎหมายและออกแถลงการณ์ไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ