ทีมกฎหมายฯ เห็นว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ถือว่าผูกพันทุกองค์กร และการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เป็นการตัดสิทธิ และริดรอนสิทธิของประชาชนในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง และเป็นการพรากสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไปจากการปกครองระบอบประชาธิปไตย ขัดแย้งกับคำปรารภของรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิประชาชนคนไทยพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่กลับมีการใช้เสียงข้างมากของสภาไปกำหนดให้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเพียงผู้เดียว ถือเป็นการบิดเบือนตัดตอน และริบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ตรวจสอบการใช้อำนาจ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และองค์กรอื่นๆ
ดังนั้น จึงขอให้ศาลวินิจฉัยใน 3 ประเด็น คือ 1.ให้ผู้ถูกร้องยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และมาตรา 237 2.ขอให้ยุบพรรคการเมือง 6 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังชล พรรคมหาชน พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคชาติพัฒนา ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ผู้ถูกร้องสังกัดอยู่ และ 3.ขอให้สั่งคุ้มครองชั่วคราวให้รัฐสภา ระงับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และมาตรา 237 ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง
"การยื่นคำร้องครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)จ้องเล่นงานพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด" นายวิรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ หลังจากการยื่นคำร้องครั้งนี้ ทีมกฎหมายฯ กำลังพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอีก 2 เรื่อง คือ ร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท และร่างพ.ร.บ.การปรองดองแห่งชาติ ฉบับร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ที่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ