โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การเข้าร่วมเป็น กมธ.ในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวง รวมทั้งการเข้าร่วมเป็นองค์ประชุมและการใช้สิทธิอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาในการประชุมร่วมกันของรัฐสภานั้นยังมิได้มีการกระทำใดอันจะเป็นการแสดงถึงมูลกรณีว่าผู้ถูกร้องจะกระทำการอันเป็นการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด จึงไม่เข้าลักษณะการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง
"คำร้องของผู้ร้องจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย" คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ
คดีนี้นายเรืองไกรได้ยื่นคำรองให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี กับพวกรวม 10 คน, พ.อ.อภิวินท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กับพวกรวม 19 คน, นายวิสิทธิ์ พิทยาภรณ์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย กับพวกรวม 2 คน, นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา, นายประสาท ตันประเสริฐ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคชาติไทยพัฒนา, นายรณเทพ อนุวัฒน์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังชล, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้กระทำการตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ด้วยการใช้สิทธิและเสรีภาพ เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68 และมาตรา 237 ) ตามสัดส่วนของวุฒิสภาและพรรคการเมือง และร่วมอภิปราย ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ส.สรรหา ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68